"สนธิญาณ" เผย ผลงาน "ป๋าเปรม" ที่ท่านได้ทำให้กับประเทศชาติ และเกียรติสูงสุดในชีวิตในฐานะคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ก้าวสู่ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

รายการ "ยุคลถามตรง สนธิญาณฟันธงตอบ" ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ออกอากาศทางช่อง ไบรท์ทีวี หมายเลข 20 ดำเนินรายการโดย คุณยุคล วิเศษสังข์ (หนึ่ง)  ได้สัมภาษณ์คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ต้อย)  กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ทีนิวส์ทีวี โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 

สนธิญาณ : เมื่อวานเราคุยกันเรื่องของท่านประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ล้ำเวลาของคุณยุคลมาด้วย เหตุผลก็เนื่องจากว่าเรื่องราวของท่าน ความดีของท่านมีมากมายเหลือเกินครับ ดังนั้นวันนี้ผมจะขออนุญาตท่านผู้ชมเล่าเรื่องราวของ พล.อ.เปรม และคุณค่าที่ท่านได้ทำให้กับประเทศชาติและแผ่นดิน จะได้เข้าใจกันครับว่าทำไมชีวิตของคนๆ หนึ่งถึงได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตในฐานะคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรี 3 สมัย รัฐบุรุษสู่องคมนตรี ประธานองคมนตรีในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 และประธานองคมนตรีในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 สองแผ่นดิน ต้องไล่เรียงแบบนี้ครับ พล.อ.เปรมเป็นคนพื้นเพมาจากปักษ์ใต้ จ.สงขลา เข้ารับราชการในเหล่าทหารม้า ในเหล่าทหารม้าเมื่อรับราชการแล้ว ในยุคสมัยที่โครงสร้างยังไม่ปรับต้องเรียนว่าใครที่ได้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า นั่นถือว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เป็นความใฝ่ฝันของทหารม้าทุกคน ตำแหน่งนี้อยู่ในระดับพลตรีในขณะนั้น อยู่ในระดับกองพล แต่ทหารม้าถือว่านี่คือเกียรติยศสูงสุดในเหล่า ใครที่อยู่ขึ้นไปตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าก็จะเรียกพ่อม้า นี่ล่ะครับจึงเป็นที่มาของคำว่า "ป๋าเปรม" ป๋าก็เหมือนพ่อ ทหารม้าเรียกกันอย่างนั้น จากผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ท่านก็มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 และขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี พ.ศ. 2517 ปี พ.ศ.ที่ผมเน้นย้ำตรงนี้มีความสำคัญ โดยปกติเส้นทางการเจริญเติบโตของทหารบกนั้น การได้เป็นแม่ทัพถือว่าเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของทหารบก พล.อ.เปรมท่านก็มาถึงความใฝ่ฝันที่ทหารทั่วไปมาอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ครับ แต่จากแม่ทัพซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งบังคับบัญชามีอำนาจสั่งการและมีส่วนในการที่จะทำให้เกิดแพ้ชนะทางการรบ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ มีแม่ทัพเดียวล่ะครับที่จะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งร้อยละ 99 ในตอนนั้นผู้ที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารบกต้องเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เท่านั้น ถือว่าเป็นการคุมหัวใจเป็นศูนย์กำลังทั้งหมดที่คุมอยู่ ที่เป็นแม่ทัพภาคต่างๆ ก็จะเกษียณส่วนใหญ่ สูงสุดก็เป็นผู้ช่วยหรือรองผู้บัญชาการทหารบก แต่ส่วนใหญ่มักจะไปเป็นประจำ ยศพลเอกถือเป็นการตอบแทนที่รับใช้ชาติ พล.อ.เปรมก็น่าจะมีชีวิตราชการอย่างนั้น เพราะการไปเติบโตที่แม่ทัพภาคที่ 2 เส้นทางเป็นแบบนั้น แต่ในปี พ.ศ. 2517 ที่ผมเรียนย้ำเป็นยุคที่ประเทศไทยกำลังมีปัญหาในเรื่องการสู้รบกันมาก ระหว่างท่านไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ลงพื้นที่แล้วมีคำถามอันเป็นวาระที่นำพามาสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติให้ร่มเย็น จากการสู้รบของคนไทยกันเอง เข่นฆ่ากันเอง ตายเป็นหมื่นราย นั่นก็คือคอมมิวนิสต์ก็คนไทยเหมือนกัน ที่เดินไปเดินมาที่เราเรียกว่าคอมมิวนิสต์ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คนไทยด้วยกันไม่ได้เป็นศัตรูกัน สิ่งที่เป็นศัตรูคืออุดมการณ์ต่างหาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่มองคนไทยด้วยกันเป็นศัตรู นี่คือสิ่งที่ท่านได้ทำในสมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และมีการก่อตั้ง กสช. ในการทำงานมวลชนไม่ใช่การเอาทหารไปปราบปรามจนคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างมากมายมหาศาลเป็นแบบนั้นครับ ด้วยเหตุผลนี้และทิศทางทางการเมืองที่เกิดขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี พ.ศ. 2521 พร้อมๆ กับการเป็นผู้บัญชาการทหารบกในลำดับต่อมา นายทหารบ้านนอกคนนี้เปล่งประกายเจิดจรัสปรับวิธีคิดในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ใหม่หมดจนเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2524 สิ่งที่ท่านได้ทำและมีคุณูปการอย่างสูงยิ่งคือทำให้สงครามระหว่างคนไทยยุติลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยการออกคำสั่งที่ 66/23 ซึ่งถือเป็นนโยบายรัฐบาลในการเปิดกว้าง เปิดความเข้าใจระหว่างคนไทยด้วยกัน ช่วยชาติแบบนี้ ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ลุล่วงไปได้ถึง 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจแต่ถามว่าทำไมถึงแก้ได้ เพราะท่านเป็นบุคคลที่ฟังคนอื่น ฟังที่ปรึกษาไต่ตรอง และเมื่อถึงเวลากล้าตัดสินใจแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง ช่วงลดค่าเงินบาทวิกฤตมากนะครับ เกือบจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะกองทัพในสมัยนั้นเห็นว่าท่านทำไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุดประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่ท่านคิดและตัดสินใจอย่างกล้าหาญโดยไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเกิดคุณูปการบ้านเมือง จนถึงปี พ.ศ. 2531 มีการเลือกตั้งทั่วไป ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย 8 ปี พรรคร่วมรัฐบาลไปเชิญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ท่านมีวาทะที่ทำให้ประวัติศาสตร์จะต้องจดจำซึ่งไม่เกิดขึ้นกับใครมากนักในประเทศนี้ ในบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลาย นั่นก็คือ "ผมพอแล้ว" นี่ล่ะครับท่านผู้ชมครับ หลังจากนั้นท่านก็ได้ตำแหน่งรัฐบุรุษและได้รับพระกรุณาธิคุณให้เป็นองคมนตรีและทำงานรับใช้ชาติอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ผมอยากจะกล่าวเล่าเรื่องราวอย่างย่อในเกียรติประวัติของท่านให้เราได้จารึก ให้เราได้เข้าใจว่าไม่ต้องสงสัยหรอกครับว่าที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระราชดำรัสกับท่านโดยใช้สรรพนามว่า "ป๋า" ขอบคุณมากครับที่กรุณารับฟัง และก็ขอให้เราได้รู้จักกับท่านตามสิ่งที่ผมได้สรุปให้ฟัง