- 14 เม.ย. 2563
สืบเนื่องจากการที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร
สืบเนื่องจากการที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร
ล่าสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงการอุทธรณ์คดีของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นจำเลยในคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนเช็ค 10 ล้านบาท ว่า คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษายกฟ้อง เมื่อคัดถ่ายคำพิพากษามาแล้ว
ทางอัยการคดีพิเศษซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีก็ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีนี้ คณะทำงานของสำนักงานอัยการคดีพิเศษเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชอบแล้วที่ยกฟ้อง เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล จึงเสนอเห็นควรไม่อุทธรณ์ไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลสูง สำนักงานคดีศาลสูงมีนายมนต์ชัย บ่อทรัพย์ เป็นอธิบดีอัยการ ก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 คน ร่วมกันพิจารณาสำนวน
“ทั้ง 5 คน เห็นเป็นเอกฉันท์ เห็นพ้องต้องกันว่า คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องพานทองแท้ว่าไม่ได้กระทำผิด ชอบแล้ว พูดง่ายๆ คือทั้งอัยการคดีพิเศษและอัยการคดีศาลสูงเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่ยกฟ้อง ก็เลยเสนอสำนวนไปที่ดีเอสไอ ต่อไปก็อยู่ที่ขั้นตอนของดีเอสไอ ส่วนรายละเอียดทำไมเห็นด้วย อะไรอย่างไร คดียังไม่ถึงที่สุด ยังไม่สามารถที่จะลงไปในรายละเอียดได้ แต่หลักใหญ่ที่ตอบได้คือ คณะของอัยการเห็นด้วยกับการตัดสินของศาล”
นายประยุทธ กล่าวถึงขั้นตอนขณะนี้ด้วยว่า อยู่ระหว่างที่ดีเอสไอจะพิจารณาเห็นแย้งหรือเห็นด้วย ถ้าดีเอสไอเห็นด้วยกับอธิบดีอัยการศาลสูงก็จบ ไม่ต้องไปอัยการสูงสุด จะไปอัยการสูงสุดต่อเมื่อดีเอสไอเห็นแย้งอัยการเท่านั้น
และเมื่อถามถึงการพิจารณากรณีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่องค์คณะท่านหนึ่งทำความเห็นแย้งให้ลงโทษนายพานทองแท้ นายประยุทธ กล่าวว่า เป็นรายละเอียด ไม่สามารถลงไปตรงนั้นได้ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ไม่สามารถชี้รายละเอียดได้ ยังไม่ถึงที่สุด เพราะสามารถไปอีกหลายขั้นตอนตามกฎหมาย แต่เหตุผลง่ายๆ ที่อัยการคดีพิเศษและอัยการคดีศาลสูงไม่อุทธรณ์เพราะเห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ยกฟ้อง
ถามถึงกรณีหากประชาชนมีความข้องใจ จะต้องมีการแถลงชี้แจงรายละเอียดต่อไปหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ที่ศาลยกฟ้องโดยคำพิพากษาของศาล ศาลตัดสินอย่างไรท่านพิจารณาโดยความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่แล้ว สิ่งที่อัยการเราเห็นก็คือสิ่งเดียวกับที่ศาลท่านยกฟ้อง กระบวนการทั้งหมดมีการตรวจสอบละเอียด รอบคอบ รัดกุมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการที่ศาลท่านตัดสินมาอย่างนั้นก็แสดงว่าศาลท่านดูละเอียดแล้ว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตุว่ากรณีดังกล่าว ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะดำเนินการอย่างไร และใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ หลังจากก่อนหน้านั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีหนังสือเลขที่ ยธ 0822/พิเศษ ลงวันที่ 2 มี.ค.63 แจ้งว่ มีความประสงค์ขอลาออกจากราชการตั้งวันที่ 2 เม.ย 63 เพื่อดูแลสุขภาพ และกระทรวงยุติธรรมโดยนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งอนุญาต ให้พ.ต.อ.ไพสิฐ ลาออกจากราชการตามที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการขอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้า ให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราขการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 113
ขณะที่กระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งแต่งตั้งพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงให้ไปรักษาการในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ และเป็นที่คาดหมายว่า พ.ต.ท.กรวัชร์ เป็นตัวเต็งที่อยู่ในข่าย อาจให้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นอธิบดีดีเอสไอคนใหม่ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งที่ 109/2563 ลงวันที่ 26 มี.ค.63 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.63 และมีคำสั่งให้รองอธิบดีดีเอสไอ 4 คน สลับกันปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน ประกอบด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ , พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล , พ.ต.ท.สุภัทร์ ธรรมธนารักษ์ และ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฏัมภ์