ความคืบหน้าการจดแจ้งสมาคม สโมสร / การจดแจ้งนักกีฬา บุคลากร

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

ความคืบหน้าการจดแจ้งสมาคม สโมสร / การจดแจ้งนักกีฬา บุคลากร

ประโยชน์การจดแจ้งบุคลากรกีฬาอาชีพ

 

แม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557

แต่ประเด็นหนึ่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ค่อนข้างเป็นห่วง และเป็นกังวลอย่างมากคือ ขั้นตอนการดำเนินการจดแจ้งสมาคม สโมสร และขั้นตอนการจดแจ้งนักกีฬา บุคลากร ที่ปัจจุบันยังมีการดำเนินการที่ล่าช้า เนื่องจากบรรดานักกีฬา และบุคลากรกีฬาอาชีพทุกองคาพยพยังไม่เข้าใจเหตุผล ใม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

การจดแจ้งสมาคม สโมสร และการจดแจ้งนักกีฬา บุคลากรตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 กำหนดนั้น เปรียบเสมือนการขึ้นทะเบีนบุคลากรกีฬาอาชีพในทุกมิติอย่างเป็นระบบ เมื่อใดก็ตามที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายย่อมจะได้สิทธิคุ้มครองอย่างถูกต้องเช่นกัน

ในทางกลับกันเมื่อนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาอาชีพ ละเลยการขึ้นทะเบียนตัวเองย่อมจะสูญเสียสิทธิใดๆ ก็ตามที่กฎหมายให้การคุ้มครองไว้...!!!

ขั้นตอนการยื่นขอจดแจ้งดังกล่าวนั้น กกท. กำหนดไว้ไม่มีอะไรซับซ้อน วุ่นวายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงแค่นักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาอาชีพสำรวจตัวเองว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่ กกท.กำหนดคือ 1.ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี 2.ไม่อยู่ระหว่างรับโทษตัดสิทธิในการเข้าแข่งขันกีฬาอันเนื่องจากความรับผิดเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา หรือการลงโทษอย่างอื่น 3.ไม่อยู่ระหว่างการถูกลงโทษให้พักการแข่งขันจากสหพันธ์กีฬา หรือสมาพันธ์กีฬา หรือองค์กรกีฬาชนิดนั้นๆ  4.ไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล หรือเคยรับโทษจำคุกและพ้นโทษไม่น้อยกว่า 2 ปี 5.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด

ช่องทางในการรับจดแจ้งขึ้นทะเบียนนักกีฬาอาชีพทำได้ที่ กกท.ประจำทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่ กกท.ส่วนกลาง หรือแจ้งผ่านระบบสารสนเทศ (ไอที) โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipsl.com สำหรับเอกสารมี 4-5 อย่าง สำเนาบัตรประจำตัวหรือเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาสัญญาจ้าง หรือ หนังสือรับรองจากสโมสรกีฬาอาชีพ, หนังสือรับรองจากสมาคม, รูปถ่ายขนาด 4x6 เซนติเมตร แค่นี้ก็เข้ามาเป็นสมาชิกกีฬาอาชีพที่ขึ้นทะเบียนแล้ว

"ผอ.น้อย" ทนุเกียรติ์ จันทร์ชุม ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย กกท. เล่าว่า นักกีฬาและ บุคลากรที่สามารถจะขอจดแจ้งเป็นนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาอาชีพได้จำเป็นต้องอยู่ใน 13 ชนิดกีฬา ที่ กกท. กำหนด ได้แก่ ได้แก่ กอล์ฟ, จักรยาน, แข่งรถยนต์, สนุกเกอร์, โบว์ลิ่ง, เจ็ตสกี, จักรยานยนต์, แบดมินตัน, เทนนิส ฟุตบอล, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล การจดแจ้งมีอยู่ด้วยกัน 2 อย่างคือ 1.การจดแจ้งสมาคม สโมสรกีฬาอาชีพ และ2.การจดแจ้งนักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพ ซึ่งหลังจากที่ กกท. ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการจดแจ้งให้เรียบร้อยนั้น ในส่วนของสมาคม สโมสรกีฬาอาชีพได้มาจดแจ้งเกือบครบแล้วขาดอยู่เพียงแค่เล็กน้อย 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การจดแจ้งนักกีฬา และบุคลากีฬาอาชีพนั้น ปัจจุบันสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2560 จากจำนวนนักกีฬาอาชีพทั้ง 13 ชนิดกีฬา 5,000 คนมีมาดำเนินการจดแจ้งหรือขึ้นทะเบียนเพียงแค่ 1,000 กว่าคน หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก

"ผอ.น้อย" กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักนักกีฬา และบุคลากีฬาอาชีพมาจดแจ้งน้อยประการแรกคือ การละเลย ไม่ให้ความสำคัญเพราะยังไม่มีเรื่องเดือดร้อนจนต้องมาพึ่งกฎหมาย อีกประการคือ การเกรงกลัวเรื่องการต้องเสียภาษีเพราะการจดแจ้งต้องมีการแสดงรายได้ต่างๆ จึงทำให้ลืมนึกไปว่า กฎหมายจะให้การคุ้มครองในทุกกรณีหากเกิดข้อพิพาท ร้องเรียนต่างๆ ขึ้น ซึ่งหากบุคลากรกีฬาอาชีพไม่จดแจ้งไว้ก่อน นายทะเบียนอย่าง กกท. ก็ไม่สามารถดำเนินการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายใดๆ ได้เลย

"นอกจากเสียสิทธิในทางกฎหมายแล้วนั้น ในทางผลพลอยได้ต่างๆ ที่จะตามมาหากดำเนินการจดแจ้งไว้ก็จะสูญเสียสิทธิไปโดยปริยายอาทิเช่น กกท.จะมีงบประมาณให้การช่วยเหลือในเรื่องตั๋วเครื่องบิน ที่พัก อาหาร และเบี้ยเลี้ยงให้กับกลุ่มนักกีฬาอาชีพที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจาก กกท.ในการให้การสนับสนุนไปแข่งขันเพื่อทำแร้งกิ้งเมื่อไม่มีการจดแจ้งก็จะไม่มีการพิจารณาให้การสนับสนุน หรืออย่างเช่นล่าสุดการประชุมอบรมโค้ชฟุตบอลระดับโปรไลเซ่นนั้น ผู้เข้าอบรมทุกคนเพิ่งทราบว่า หากได้ไปจดแจ้งเป็นบุคลากรกีฬาอาชีพไว้แล้วนั้น ภาครัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนเป็นเงินสองแสนห้าหมื่นบาท (250,000 บาท) จากค่าเรียนที่โค้ชต่างๆ ที่มาอบรมต้องจ่ายคนละห้าแสนบาท (500,000 บาท) ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าใจจุดนี้ว่ารัฐหวังดี และต้องการช่วยเหลือบุคลกรกีฬาอาชีพในทุกกลุ่มเพียงแต่ให้ทุกคนมาจดแจ้งให้เรียบร้อยเท่านั้น" ผอ.น้อยกล่าว

เรื่องการจดแจ้งนักกีฬา บุคลากรกีฬาอาชีพ มีความสำคัญอย่างมาก หากไม่เห็นความสำคัญ ย่อมทำให้สูญเสียสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้รับจาก พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556