- 04 เม.ย. 2566
วางแผนจนติดกับ จับคาหนังคาเขา ตำรวจรวบเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี เรียกเงินแลกรับผลประโยชน์ ความเสียหายกว่า 3.2 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. และกองป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ร่วมกันจับกุม นายประมวล อายุ 57 ปี พนักงานเขตราชเทวี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่”
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” มาตรา 157
สถานที่จับกุม บริเวณลานจอดรถ โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย กรณี เจ้าหน้าที่เขตราชเทวี ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน พฤติการณ์ กล่าวคือ จนท. สนง.เขต แจ้งให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามแบบ (ภ.ร.ด.๒) และผู้เสียหายได้มอบหมายให้ ตัวแทนซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัทฯ เข้าไปติดต่อและต่อมาตัวแทนของผู้เสียหายได้กลับมาแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า
จนท.สนง.เขตราชเทวี ได้บอกว่า บริษัทฯ จะต้องชำระค่าภาษีประมาณ 40 กว่าล้านบาท แต่หากนำเอาเงินมาให้ จนท.สนง.เขตราชเทวี รายดังกล่าว จำนวน 3 ล้านบาท จะเก็บเรื่องดังกล่าวไว้ ทำให้ บริษัทฯ ไม่ต้องชำระเงินจำนวน 40 กว่าล้านบาท”
จากนั้นบริษัทฯ ได้ให้ตัวแทนติดต่อแจ้งว่ายอดภาษีที่แจ้งมานั้นมีจำนวนสูงเกินจริงซึ่ง จนท.สนง.เขต ได้ตอบว่าเงินที่เคยเสนอไปจำนวน 3 ล้านบาท ขอเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3,500,000บาท เพราะต้องเอาไปแบ่งกรรมการอีกหลายท่าน ต่อมาผู้ร้องเรียนแจ้งว่าจะนำพนักงานบัญชีของบริษัทฯไปขอทราบรายละเอียด
ก็ได้คำตอบว่าสามารถลดราคาลงได้เหลือ 3.2 ล้านบาท ผู้ร้องเรียนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของ จนท.สนง.เขตราชเทวีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงมาร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบและในขณะที่ผู้เสียหายได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนอยู่นั้น ตัวแทนของผู้เสียหายได้โทรศัพท์เข้ามาหาและแจ้งว่าได้นัดหมายกับ หัวหน้าฝ่ายรายได้เขตราชเทวี คนดังกล่าวเพื่อให้เข้ามาพบผู้เสียหายในวันศุกร์ที่ 31มี.ค.66 เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมฯ เพื่อรับฟังรายละเอียดจาก จนท.สนง.เขตด้วยตนเอง
กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ประสานและวางแผนการจับกุมร่วมกับผู้เสียหายเพื่อกำหนดแนวทางและรวบข้อมูลพยานหลักฐาน จนกระทั่ง จนท.สนง.เขตฯ ได้ขับรถมาที่โรงแรมฯ เพื่อพบตัวแทนผู้เสียหายเพื่อขึ้นไปพบกับผู้เสียหาย โดยทั้งสองได้พูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองกัน สรุปได้ว่าผู้เสียหายต้องจ่ายเงินทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 3.2ล้านบาท พร้อมทั้งนัดหมายส่งมอบเงินให้กับ จนท.สนง.เขตฯ ในวันที่ 4 เมษายน 66
ต่อมาวันที่ 3 เมษายน เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย
เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ผู้เสียหายนำเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 3.2ล้านบาท มาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ กก.๑ บก.ปปป.เพื่อเป็นพยานหลักฐาน
จากนั้นในวันที่ 4 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ ผู้เสียหายนำเงินสดซึ่งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว นำมามอบให้ จนท.สนง.เขตฯ ที่ โรงแรมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ฯ เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบและเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแล้ว จนท.สนง.เขตฯกำลังเดินทางกลับเมื่อถึงบริเวณลานจอดรถโรงแรมฯ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานเพื่อเข้าทำการตรวจค้น ขณะทำการตรวจค้น
พบว่ามีเงินสด 3,200,000 บาท อยู่ภายในถุงกระดาษสีขาว ที่จนท.สนง.เขตฯ ถือติดตัวมาด้วย เจ้าหน้าที่ฯจึงทำการตรวจสอบเงินสดต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ นำส่ง พงส.กก.๑ บก.ปปป. โดย พงส. บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดในข้อกล่าวหา โดยให้การว่าสิ่งของที่รับมาจากผู้เสียหายนั้นตนคิดว่าเป็นเอกสารแต่รับว่ารับสิ่งของดังกล่าวมาจากผู้เสียหายจริง