ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.tnews.co.th

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์เป็นวันคล้ายวันมรณภาพครบ ๑๕ ปีของหลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล “พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม” ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ชำนาญทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ท่านละทิ้งเกียรติยศตำแหน่งในการบริหารคณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่คือพระนิพพาน ละจากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ องค์ท่านละขันธ์ด้วยอาการสงบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ในวันรุ่งขึ้น วันพุธที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๑.๓๐ น. องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้มาที่วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และ ได้ปรารภถึงหลวงปู่มหาเขียน ว่า “...สนิทสนมกันถึงขนาดว่าเป็นเสี่ยวกันนั่นแหล่ะ ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันติดพันกันมาตั้งแต่โน้นนะ ที่ได้ห่างกันก็ตอนเราออกปฏิบัติ ท่านก็ออกมาจากเจ้าคณะจังหวัดมาอยู่ทางนี้นะ ทีนี้ห่างกันตรงนี้ ทางร่างกายนะ ความเคลื่อนไหวไปมาไม่ค่อยได้พบกัน แต่ทางด้านจิตใจนะมันสนิทสนมกันมาตลอดนะ เป็นอย่างนั้น บางทีคนทั้งหลายก็จะไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันกับเรา เป็นเพื่อนสนิทสนมกันกับเรา เป็นเสี่ยวกันนั่นแหละ..” หลวงปู่มหาเขียน พระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ฯ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้ง เป็นเพื่อนสหธรรมิกกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) และพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านทั้งสามยังมี อายุพรรษาไม่มากนัก ท่านเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณ ทั้งพระปริยัติธรรม เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทั้งปฏิบัติธรรม คือท่านสละลาภยศ ทั้งหมดออกปฏิบัติธรรมในสำนักของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และที่สุดท่านได้ทรงพระปฏิเวธธรรม คือความหลุดพ้น

พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

“พระอริยเวที” หรือ “หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล” ท่านถือกำเนิดตรงกับวันพุธ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ปีฉลู ณ หมู่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทำจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่นมุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สำรวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ซื่อตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติไตรศึกษา ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

๕ กุมภาพันธ์..คล้ายวันละสังขาร ครบ ๑๕ ปี \"หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล\"พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม สนิทสนมเป็นเสี่ยวหลวงตามหาบัว.

ครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น กัณฑ์แรกเรื่อง "โทษของการเกิด" และกัณฑ์ที่ ๒ เรื่อง "มุตโตทัย" ท่านถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมกล่าวคำปฏิญาณว่า "สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนา ชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์เป็นสักขีพยานด้วย" จากนั้นตราบจนสิ้นอายุขัย ท่านได้ทำสัจวาจานั้นให้เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย หลวงปู่มหาเขียน ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทจนตลอดอายุขัย

หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาลำดับที่ ๓ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล บริหารภายในวัด ตั้งเป้าไว้สูงให้พระเณรศิษย์วัดปฏิบัติตามเคร่งครัดและคัดเลือกหมู่คณะเข้ารับการอบรมที่วัดบวร ให้กลับมาเป็นบุคคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส ท่านริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ "สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ" ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ ทุนทรัพย์เติบใหญ่

เมื่อวางรากฐานการปกครองและการศึกษา เข้าสู่ความเจริญตามเป้าหมาย ท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์อย่างอาจหาญว่า "จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า" ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้น ท่านได้สร้างวัดป่ารังสีปาลิวัน บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ และได้ออกบำเพ็ญตามถ้ำ เงื้อมผาหลายแห่ง

หลวงปู่มหาเขียน ท่านปรารภถึงชีวิตท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมืองว่า... "ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมาก สำหรับที่จะทำความเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่ง ๆ มีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องต่าง ๆ เสียเวลาทำความเพียร เป็นการทำชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้นเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาท เป็นปปัญจธรรม คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมน อนธการ คิด ๆ ดูแล้ว ก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมืองอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟัง คิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติ จึงจะมีโอกาสงามสำหรับบำเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ "ทุลฺลภขณสมฺปตฺติ" สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้.."

๕ กุมภาพันธ์..คล้ายวันละสังขาร ครบ ๑๕ ปี \"หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล\"พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม สนิทสนมเป็นเสี่ยวหลวงตามหาบัว.

คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล

ในสมัยที่หลวงปู่เขียนออกฝึกหัดปฏิบติอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าว่า มีแม่ชีอยู่คนหนึ่งชื่อ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ซึ่งแม่ชีผู้นี้ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า เป็นผู้ที่มีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้ทำนายท่านไว้ว่า

“ท่านมหาบวชมาแล้วชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไปจะไม่สึก ชาติที่บวชครั้งแรกนั้นท่านมหาบวชเป็นสามเณรอายุได้ ๑๗ ปี ก็สึก ชาติต่อมาก็บวชเป็นสามเณรอีกอายุได้ ๑๙ ปี ย่างเข้า ๒๐ ปี แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระก็สึกอีก ชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และได้บวชเป็นพระอีก ทั้งจะอยู่ต่อไปได้ตลอดจะไม่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดไป”

หลวงปู่ก็พูดว่า “ถ้าหากอาตมาอยากจะสึกจะทำอย่างไร คืออยากสึกมากๆ อดไม่อยู่แล้วก็สึกไป”

คุณแม่ก็กล่าวว่า “ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าท่านมหาจะอยากสึกอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาตินี้แล้ว ท่านมหาจะต้องอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ตลอดไป ไม่สึกแน่นอน”

หลวงปู่กล่าวว่า “ก็ได้แต่รับฟังไว้ คอยสังเกตดูตัวเองอยู่ตลอดมา”

เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ อายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยอัมพาต เพราะเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้พูดออกมาไม่เป็นคำพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทำงาน ช่วยตัวเองได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยนานถึง ๑๙ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ำเสมอ

หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริอายุรวม ๙๐ ปี ๖๘ พรรษา พิธีพระราชทานเพลิงศพ มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖

๕ กุมภาพันธ์..คล้ายวันละสังขาร ครบ ๑๕ ปี \"หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล\"พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม สนิทสนมเป็นเสี่ยวหลวงตามหาบัว.

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน