- 13 ม.ค. 2563
4 เรื่องจริงเกี่ยวกับสถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย
1. ถ้าหากพูดถึงสถานีกรุงเทพหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า สถานีหัวลำโพง คงต้องร้องอ๋อกันแน่นอน ซึ่ง เริ่มก่อสร้างช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 จนวันนี้ผ่านไปกว่า 103 ปีแล้ว
2.ศิลปะการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เดิมเป็นอาคารไม้ อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม เยื้องๆ กับโรงเรียนสายปัญญา ก่อนที่จะสร้างอาคารใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 เพื่อรองรับการเดินรถที่มากขึ้น จนสำเร็จในต้นรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารทรงโค้งครึ่งวงกลมแบบศิลปะอิตาเลียน เรเนสซองส์ คล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกสยามผู้ออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคมและสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง
3.เส้นทางรถไฟที่ออกจากหัวลำโพง แบ่งออกเป็น 4 สาย ได้แก่ 1. ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทาง 751.42 กิโลเมตร 2. ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี ระยะทาง 575.10 กิโลเมตร ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 621.10 กิโลเมตร 3. ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ ระยะทาง 254.50 กิโลเมตร ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ระยะทาง 184.03 กิโลเมตร 4. ทางรถไฟสายใต้ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรี เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 973.84 กิโลเมตร (นับถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์) ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ระยะทาง 1,142.99 กิโลเมตร
4.ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเปิดสถานีรถไฟแห่งใหม่คือ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูงเข้าด้วยกัน คล้ายกับ Taipei main station ของประเทศไต้หวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอันยุติบทบาทของสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน, commons.wikimedia