"เจอดี-มีคลิป" เตือนประชาชนซื้อหรือ เก็บ สิ่งนี้มาปรุงอาหารอาจ ตายได้ !! ชี้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบช่วงหน้าฝนมีผู้ป่วยแต่ละปีรวมถึงร้อยละ 80

"เจอดี-มีคลิป" เตือนประชาชนซื้อ หรือเก็บ สิ่งนี้มาปรุงอาหารอาจ ตายได้ !! ชี้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบช่วงหน้าฝนมีผู้ป่วยแต่ละปีรวมถึงร้อยละ 80

วันนี้ (19กรกฎาคม2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บหรือซื้อเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 ก.ค. 2560 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 638 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 65 ปีขึ้นไป และ 55-64 ปี ตามลำดับ 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ หนองคาย สุรินทร์ และยโสธรตามลำดับ จากข้อมูล 5 ปีย้อนหลังพบในช่วงหน้าฝนของทุกปี(พ.ค. – ก.ย.) จะพบผู้ป่วยประมาณ 1,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยตลอดทั้งปี

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ส่วนเห็ดอีกชนิด คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็ก

          ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

          สำหรับอาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย(หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที