บิดเบือนไปวันๆ !!แน่จริงเอาหลักฐานมาแจกแจ้งเส้นทางเงินโยง"มูลนิธิรัฐบุรุษฯ" เอี่ยวคดีกรุงไทย?? จะซันซ้อนเท่ากับ"พานทองแท้"หรือไม่??!!

สืบเนื่องจากการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีกการดำเนินคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้อง ซึ่ง  ปปง.ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนได้มีมติให้มีการแจ้งข้อกล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวก และได้มอบข้อมูลพยานหลักฐานการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว

ซึ่งต่อมา 28 ก.ย.นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความของนายพานทองแท้ ชินวัตร เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ  ซึ่งในบางช่วงนายชุมสาย กล่าวว่า คดีนี้ ปปง. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ในความผิดอาญาฐานฟอกเงิน โดยเห็นว่าเช็คจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายให้นายพานทองแท้ เป็นการโอนเงินในรูปแบบของการทำธุรกิจทางการค้า ซึ่งนายพานทองแท้ไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด และไม่มีเจตนาพิเศษที่จะซุกซ่อนหรือปิดบังอำพราง 

แต่อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามเคลื่อนไหวออกมา จากนายวันชัย บุญนาค ทนายความอิสระ ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอเนื่องจากมีหลักฐานว่าที่ผ่านมามีมูลนิธิรัฐบุรุษฯหรือนายพลเรือคนดัง มีชื่อเกี่ยวข้องกับการรับเงินด้วยเช่นกันแต่ไม่ถูกดำเนินคดี เพื่อให้ดีเอสไอใช้ประกอบการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

การเคลื่อนไหวของนายวันชัยนั้น  เหมือนกับออกมารับลูกต่อจากนายพานทองแพ้ เพราะก่อนหน้านี้นายพานทองแท้ได้ออกมายอมรับว่า มีธุรกรรมทางการเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับตัวเองในคดีดังกล่าว แต่เปิดเผยว่า ยังมีอีกหลายองค์กรที่ได้รับเงินก้อนนี้ด้วยอีกกว่า 300 องค์กร เช่น มูลนิธิรัฐบุรุษฯ หรือนายพลเรือคนดัง มีชื่อรับเงินด้วย 

เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งขึ้น ก็ต้องย้อนทำความเข้าใจเส้นทางการเงินคดีฟอกเงินดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกอดีตกรรมการผู้บริหารธนาคารกรุงไทย อดีตเจ้าหน้าที่สินเชื่อ และกลุ่มกฤษดามหานครจำนวนหลายราย โดยมีการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ว่า เป็นคนสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าว โดยอ้างว่า นายทักษิณคือ ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ (ปัจจุบันข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ได้ไต่สวนให้กระจ่างชัด เนื่องจากนายทักษิณ หลบหนีคดี จึงให้จำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว)

ในคำพิพากษากลางตอนหนึ่ง ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน นายวิชัย กฤษดาธานนท์ (จำเลยที่ 25) ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร (ขณะนั้น) มีการโอนเงินให้แก่บุตร และบุคคลใกล้ชิดนายทักษิณ (จำเลยที่ 1) จริง 

แต่ไม่ฟันธงว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ คือนายทักษิณ ชินวัตร หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (อดีตภรรยานายทักษิณ) หรือว่ากลุ่มการเมืองที่เป็นเครือญาติของนายทักษิณหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงไม่กระจ่างชัด ?

อย่างไรก็ดีในคำวินิจฉัยส่วนตนของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น ปัจจุบันลาออกจากการเป็นประธานศาลอุทธรณ์แล้ว) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ สรุปได้ว่า

ผลการสอบสวนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะนั้น พบว่า มีแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ รวม 7,985,762,000 บาท (ประมาณ 7.9 พันล้านบาท) ที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว

โดยมีแคชเชียร์เช็ค 6 ฉบับ รวม 2,540,096,000 บาท (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) นำเข้าฝากบัญชีบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19) ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีย่าน


นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติกรรมในการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว ระหว่างบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (จำเลยที่ 20 ปัจจุบันคือบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน)) หลายขั้นตอน และยังนำไปให้บริษัท โบนัสบอร์น จำกัด (บริษัทในเครือกฤษดามหานคร) ซ้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของเครือกฤษดามหานครทั้งหมดเป็นเงิน 369,685,200 บาท ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 197,622,555 บาท โอนให้บุคคลต่าง ๆ ในกลุ่มกฤษดามหานคร

ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ ถูกนำไปชำระหนี้รีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นเงิน 4,445,130,000 บาท (ประมาณ 4.4 พันล้านบาท) และนำไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิชนิดแปลงสภาพของเครือกฤษดามหานคร คืนจากธนาคารกรุงเทพฯ ในนามของบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด (จำเลยที่ 21) จำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,536,000 บาท (ประมาณ 1 พันล้านบาท)

นอกจากนี้ยังพบว่า เงินกู้จำนวน 500 ล้านบาท ที่บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (จำเลยที่ 18 ในเครือกฤษดามหานคร) ได้รับจากธนาคารธนาคารกรุงไทย นั้น มีจำนวน 20 ล้านบาท ได้ถูกนำไปชำระค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่บริษัท โกลเด้นฯ กู้ไปจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 45 ล้านบาท ถูกนำไปชำระค่ามัดจำรีไฟแนนซ์ที่บริษัท โกลเด้นฯ มีต่อธนาคารกรุงเทพฯ ด้วย

นี่คือจำนวนเช็ค 11 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินของคดีนี้ ที่นายศิริชัย อ้างอิงจากผลการตรวจสอบของ ธปท. ซึ่งไม่พบว่า มีมูลนิธิรัฐบุรุษฯ หรือว่าองค์กรอื่น ๆ ตามที่นายพานทองแท้อ้างแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีเส้นทางเงินหลังจากนี้ตามการสอบสวนของดีเอสไอ พบว่า มีเงินไหลไปยังกลุ่มบุคคลอื่นอีกมาก แต่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไปที่บุคคลใดอีกบ้าง


ดังนั้นก็ต้องถามกลับไปยังที่ตัวนายวันชัย บุญนาค ทนายความอิสระ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวกรณีดังกล่าว ให้นำหลักฐานว่าเส้นทางดังกล่าวพัวพันเชื่อมโยงไปถือ มูลนิธิรัฐบุรุษฯหรือนายพลเรือดังกล่าว นายวันชัยต้องออกมาแจกแจ้งว่ามีพฤติกรรมยอกย้อนต้องสงสัย  อย่างเส้นทางเงินที่ผ่านบัญชี ต่างๆอย่างของนายพานทองแท้หรือไม่ ให้สังคมได้รู้กันไป อย่ามากล่าวอ้างลอยๆบินเบือนเรื่องให้เกิดความสับสนของสังคมอีกต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา