รู้ไว้ใช่ว่า!?! วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบ "คนกินสารพิษหรือยาพิษ"  (รายละเอียดการช่วยเหลือ)

รู้ไว้ใช่ว่า!?! วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบ "คนกินสารพิษหรือยาพิษ" (รายละเอียดการช่วยเหลือ)

 จากกรณีที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์อย่างมาก เมื่อวันที่ 13 ม.ค.61 เพจ Social HunterV.2 ได้มีการโพสต์ภาพเรื่องราวภรรยาของทนายความรายหนึ่ง ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กตัดพ้อชีวิต ก่อนที่จะดื่มน้ำยาซักผ้าฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม มีคนช่วยเหลือไว้ทัน อาการล่าสุดปลอดภัยแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงนำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกินสารพิษหรือยาพิษ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เพื่อให้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งคนไข้ไปถึงมือหมอเพื่อรักษาอาการต่อไป จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


1.ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ชัก หรือ กินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน หรือทินเนอร์ หรือถ้ายังไม่ทราบชนิดของสารพิษ ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเด็ดขาด มักมีความเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยได้รับยาหรือสารพิษต้องปฐมพยาบาลโดยการทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ 

 

 

2.แนวทางการดูแลผู้ป่วยหมดสติ ชัก หยุดหายใจ หรือ หัวใจหยุดเต้นในกรณีที่ผู้ป่วยยังหายใจได้เอง ให้ทำการปฐมพยาบาลดังนี้
   - จับผู้ป่วยนอนหงาย และจับศีรษะให้หงายขึ้นมากๆ และใช้นิ้วล้วงเอาอาเจียน เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่หายใจสะดวก
    - เปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวมๆ
     - ห้ามให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรทางปาก
     - ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
     - ควรติดตามผู้ป่วยไปด้วย เพื่อทำการช่วยผายปอดถ้าเกิดหยุดหายใจระหว่างทาง
     - กรณีผู้ป่วยชัก ให้ใช้ด้ามช้อนหรือไม้กดลิ้นพันผ้า สอดกันการกัดลิ้น (ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ แต่ไม่ชัก ไม่ต้องใช้ด้ามช้อนหรือไม้กดลิ้น)
     - ใช้ลูกยางดูดเสมหะ และน้ำลายออกจากปากและคอ ถ้าไม่มีลูกยางให้ใช้ผ้าสะอาดพันนิ้วมือแล้วเช็ดเสมหะหรือน้ำลายออกให้มากเพื่อเปิดทางหายใจ
      - บันทึกลักษณะการชักให้ละเอียด เช่น กระตุกหรือเกร็งบริเวณใด เกร็งทั้งตัว หรือบางส่วนของร่างกาย ระยะเวลาแต่ละครั้งนานเท่าใด
       - รีบนำส่งโรงพยาบาล โดยระหว่างทางที่นำส่งให้ดูแลผู้ป่วยตามแนวทางข้างต้น

 

 

     ในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ช่วยผายปอดด้วยการเป่าปากทันที ซึ่งสามารถกระทำได้ ดังนี้
           - จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็งแล้วเปลื้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม
           - ใช้นิ้วมือล้วงเอาเศษอาหาร เสมหะ ฟันปลอม สิ่งแปลกปลอมออกจากปากของผู้ป่วย
            - จับศีรษะผู้ป่วยหงายไปข้างหลัง โดยใช้มือข้างหนึ่งรองอยู่ใต้คอผู้ป่วยและยกคอขึ้น (หรือใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนไหล่ให้สูงขึ้น) แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางที่หน้าผากผู้ป่วยและกดลงแรงๆ ให้คางของผู้ป่วยยกขึ้น
             - ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่วางอยู่บนหน้าผากผู้ป่วย บีบจมูกผู้ป่วยให้แน่น สูดหายใจเข้าแรงๆ แล้วใช้ปากประกบปากของผู้ป่วย(จะใช้ผ้าบางๆ รองหรือไม่ก็ได้) พร้อมกับเป่าลมหายใจเข้าแรงๆ เสร็จแล้วยกปากขึ้น สูดลมหายใจเข้าแรงๆ แล้วเป่าลมหายใจเข้าปากผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง ในระยะแรกให้ทำการเป่าปากผู้ป่วยติดๆ กัน 4 ครั้ง ต่อไปเป่าประมาณนาทีละ 12 ครั้ง (ทุก ๆ 5 วินาที) สำหรับทารกและเด็กเล็กอาจใช้ปากประกบคร่อมปากและจมูกเด็กและเป่าลมให้แรงพอให้หน้าอกขยาย(อย่าให้แรงเกินไป) ประมาณนาทีละ 20 ครั้ง(ทุก ๆ 3 วินาที) ถ้าทำการเป่าปากได้ผล จะสังเกตเห็นหน้าอกของผู้ป่วยขยายขึ้น และแฟบลงตามจังหวะ ถ้าหน้าอกผู้ป่วยไม่ขยาย หรือสงสัยลมจะไม่เข้าปอดผู้ป่วย ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในปากผู้ป่วย แล้วจับขากรรไกรล่างให้แน่น พร้อมกับงัดขึ้นแรงๆ ให้ปากอ้ากว้าง แล้วทำการเป่าปากตามวิธีดังกล่าว ให้ทำการผายปอดไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือจนกว่าจะพาผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล
                - ถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรหรือฟังเสียงหัวใจไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจทันที ประมาณวินาทีละ 1 ครั้ง (60 ครั้ง ต่อนาที) ถ้ามีผู้ทำการช่วยเหลือเพียงคนเดียว ให้นวดหัวใจ 5 ครั้ง แล้วเป่าปาก 1 ครั้ง สลับกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้คนหนึ่งทำการนวดหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 1 ครั้ง (โดยอีกคนหนึ่ง)

 

3.ในกรณีผู้ป่วยไม่ชักและมีสติดีอยู่ รีบให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือน้ำเปล่า 4 - 5 แก้ว เพื่อให้พิษเจือจาง ถ้ามียาถ่าน (Activated charcoal) เช่น อุลตราคาร์บอน (Ultra carbon) ให้ผู้ป่วยกิน 100 - 200 เม็ดเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ ถ้าไม่มีให้กินไข่ดิบ 5 - 10 ฟองแทน ในกรณีผู้ป่วยไม่ชักและมีสติดีอยู่ และทราบประวัติแน่ชัดว่าไม่ได้กินกรด ด่าง น้ำมันก๊าด เบนซิน ทินเนอร์ หรือสารพิษที่มีฤทธ์กัดกร่อน
"ให้รีบทำให้ผู้ป่วย อาเจียน เอาสารพิษออก" 
- ถ้ามียาที่ทำให้อาเจียน ได้แก่ ไอพีแคกน้ำเชื่อม(Syrup of lpecac) ก็ให้ผู้ป่วยกิน ผู้ใหญ่ใช้ขนาด 2 ช้อนโต๊ะ เด็ก 1 ช้อนโต๊ะ ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี 2 ช้อนชา ตามด้วยน้ำหรือนม 2 แก้ว 
- ถ้าไม่มี ให้ใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอ หรือใช้ปลายด้ามช้อนหรือไม้กดลิ้นเขี่ย

 

 

4.สำหรับผู้ป่วยที่กินพาราควอต ให้ดื่มน้ำโคลนจากท้องร่องในสวน(ที่ไม่มีตะปูหรือเศษแก้ว) ซึ่งจะลดพิษของยานี้ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยหมดสติ หรือชัก ห้ามให้ดื่มน้ำโคลน ให้ปฏิบัติตามแนวทางดูแลผู้ป่วยหมดสติหรือชัก 

5.รีบพาไปยังโรงพยาบาล ควรนำสารพิษที่ผู้ป่วยกินหรืออาเจียนออกมาไปให้แพทย์ดูด้วย โดยระหว่างทางให้ดูแลผู้ป่วยตามแนวทางข้างต้น ควรให้กำลังใจ ปลอบใจผู้ป่วยในระหว่างทาง 

หรือที่ง่ายที่สุด โทร 1669 เรียกรถพยาบาล และควรหยิบขวดหรือถุงใส่สารเคมีที่เขากินไปติดมือไปให้หมอดูด้วย อันนี้สำคัญมากเพราะหมอจะได้ข้อมูลตรงนั้นไปปรึกษากับทางศูนย์พิษรามาเพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์