ย้อนคดี! สลายชุมนุม 2553  ทำไม ป.ป.ช. ตีตก อภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์ !?

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 


เหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553 นำมาสู่การ ฟ้องร้องกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพวก ไม่ระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น

 

 

 


ซึ่งจากการไต่สวนของป.ป.ช.สรุปว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาและพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเล็งเห็นผลแต่อย่างใด ป.ป.ช. จึงให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป

 

จนทำให้ในวันนี้ นางพะเยาว์ อัคฮาด (แม่น้องเกด) และ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ (พ่อน้องเฌอ) กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 และกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรม "สู้เพื่อความยุติธรรม" ที่ ลานวัดปทุมวนาราม

 


โดยกลุ่มเครือญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ ?น้องเฌอ? ที่ถูกยิงเสียชีวิตบนถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง และ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่วัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553 ได้ร่วมจัดกิจกรรม "สู้เพื่อความยุติธรรม จุดเทียนรำลึก รู้สึกรู้สา ตามหาความยุติธรรม จดจำฆาตกร" โดยมีกำหนดการรำลึกผู้เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนารามฯ ก่อนออกเดินไปยัง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว

 


ด้านนางพะเยาว์กล่าวว่า จากนี้จะขอต่อสู้และทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นแก่ดวงวิญญาณทุกดวงที่ต้องเสียชีวิต และตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้

 


ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหมกล่าวถึงกรณี นางพะเยาว์ อัคฮาด จัดกิจกรรมบอกกล่าววิญญาณบุตรสาว ว่า หากเขามีความคิดเห็นเช่นนั้นจะให้ทำอย่างไร แต่เราต้องชี้แจง ส่วนตัวไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว ตอนนี้ไม่ต้องเคลื่อนไหว รอให้มีรัฐบาลที่ชัดเจน เพราะขณะนี้เราทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นปัญหาจากอดีต เราทำทุกเรื่องให้เกิดความยั่นยืน เราแก้ปัญหาปัจจุบัน และเตรียมปฏิรูปในอนาคต 20 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร เพราะจะปล่อยให้ประเทศเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายคงไม่ใช่แล้ว

 


พิจารณากันต่อที่เหตุผลของปปช.ในการยกฟ้องคดีสลายการชุมนุม 2553 สามารถสรุปออกเป็น 3 เรื่องดังนี้

1.การออกคำสั่งตามกฎหมายโดยพิจารณาจากเบาไปหาหนัก

2.พื้นที่การชุมนุมเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ

3.มีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน

เพราะข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์นั้น เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการสั่งการในตำแหน่ง

 


ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 


และอีกเหตุผลสำคัญที่เป็นเกราะคุ้มกันนายอภิสิทธิ์และถือว่านายอภิสิทธิ์มีความรัดกุมก่อนจะปฏิบัติการใดๆในช่วงนั้นก็คือการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในตอนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


5 เมษายน 2553 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ในนามสำนักนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ผู้แทนเป็นโจทก์ยื่นคำร้อง เรื่องขอให้บังคับตามข้อกำหนด ให้ศาลมีคำสั่งให้ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่ม นปช. ทั้ง 5 คน นำมวลชนกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมด้วยทรัพย์สินและยานพาหนะทุกชนิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกไปจากบริเวณถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ ถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน และถนนเพลินจิตตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกชิดลม

 

รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มบุคคลทั้งห้า และกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในบริเวณถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสาทรถึงแยกสามย่าน ถนนสาทรตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสีลมตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระราม 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระราม 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุงถนนเจริญกรุงตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ถนนราชดำริตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าราชดำริถึงแยกตัดกับถนนพระราม 4 ถนนพญาไทตั้งแต่แยกสามย่านถึงถนนราชเทวี ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุขุมวิท ถึงแยกตัดกับถนนพระราม 4 ถนนดินแดงตั้งแต่แยกตัดกับถนนรัชดาภิเษกถึงแยกตัดกับถนนทวีมิตร ถนนทวีมิตร และถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่แยกตัดกับถนนดินแดงถึงแยกตัดกับรัชดา ซอย 8 หากกลุ่มบุคคลทั้งห้า และกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตามข้อกำหนด ดังกล่าวขอให้ศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยให้มีผลทันทีที่ศาลมีคำสั่ง

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่กลุ่มจำเลย จัดการชุมนุมปิดกั้นการจราจรบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนที่สัญจรไปมา รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพธุรกิจ เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ถือเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมเกินเลยไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 


ทั้งนี้ ศาลแพ่ง มีคำสั่งยกคำร้อง ที่ร้องขอให้ศาลมีคำบังคับ ให้ 5 แกนนำ เสื้อแดงและกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนออกจากสี่แยกราชประสงค์ ซึ่ง ศอ.รส.ได้ประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวห้ามชุมนุม

 

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกประกาศห้ามชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 16 และ 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งมีผลบังคับได้โดยทันทีอยู่แล้ว ผอ.รมน.ในฐานะผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ไม่จำเป็นต้องมายื่นคำขอให้ศาลมีคำบังคับเรื่องดังกล่าวอีก และ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ให้อำนาจ ผอ.รมน.ในการป้องกันปราบปรามและยับยั้ง รวมทั้งแก้ไขที่กระทบต่อความมั่นคงคืนสู่สภาวะปกติได้

 

เหตุผลที่ศาลยกคำร้องของนายอภิสิทธิ์ก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีอำนาจเต็มอยู่แล้วในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุม เพราะได้กระทำผิดกฎหมาย

 


แต่ทว่าในวันนั้นเองนายจตุพร พรหมพันธุ์กลับไปบิดเบือนบนเวทีคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ว่าศาลได้ยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ ทำให้ผู้ชุมนุมเข้าใจผิดว่ามีความชอบธรรมที่จะชุมนุมต่อ

 

ถ้าลองสังเกตดีๆช่วงดังกล่าวอยู่ในวันที่ 5 เมษายน 2553 ซึ่งยังไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

 


และแม้ว่าศาลจะระบุว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีอำนาจที่จะสลายการชุมนุม แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพในขณะนั้นก็ไม่มีความเด็ดขาด ปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อมาเรื่อยๆ

 


จนกระทั่งฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงได้ยกระดับการชุมนุม พร้อมๆไปกับการเข้ามาของกองกำลังติดอาวุธ ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553

 


เมื่อพิจารณาจากจำนวนของผู้เสียชีวิต 26 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย ซึ่งถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนสงครามและระเบิด แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเหตุการณ์ปะทะในวันดังกล่าวไม่ใช่เป็นการปะทะกันแบบปกติธรรมดา แต่มีการเตรียมการวางแผนที่จะเอาอาวุธสงครามมาใช้ในการปะทะครั้งนี้

 


แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนไว้เป็นอย่างดีของกลุ่มคนที่ต้องการให้เกิดความสูญเสียขึ้น เพราะถ้าหากว่าเป็นการปะทะแบบธรรมดาทั่วไปคนธรรมดาที่ไหนจะเอาอาวุธสงครามและระเบิดมายิงถล่มโจมตีทหารได้ ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวอ้างของกลุ่ม นปช.ที่พยายามป่าวประกาศว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมงที่สันติอหิงสาและปราศจากอาวุธ

 


ยกตัวอย่างเช่นภาของทหารเหล่านี้ที่ถูกยิงโจมตีโดยระเบิดเอ็ม79 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

 


นอกจากนั้นยังมีการปรากฏตัวของกองกำลังชายชุดดำที่กระจายตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก

 


และก็เป็นที่ชัดเจนว่ากองกำลังชุดดำเหล่านี้ได้เดินทางเข้ามาในสถานที่บริเวณแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดความสับสน อลหม่าน อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างยิ่งโดยคนเหล่านี้ได้เดินทางมาโดยรถตู้โดยสาร

 


และถ้าย้อนกลับไปตรวจสอบสถานการณ์อย่างละเอียดในช่วงเวลากลางวันก็พบว่ามีผู้ไม่หวังดีนำเอาระเบิดซีโฟร์ไปวางไว้ที่เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่อำเภอวังน้อยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยตั้งใจจะให้ระเบิดทำงานและทำให้ระบบไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครดับทั้งหมด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น ในวันที่ 10 เมษา 53 มีการวางแผนเตรียมการมาตั้งแต่ต้น


ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นจะเกิดความสูญเสียขึ้นแล้วจากกองกำลังติดอาวุธ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังไม่มีความเด็ดขาด ปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อมาเรื่อยๆ จนสร้างความไม่พอใจให้กับคนกทม.เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถไปไหนได้ เนื่องจากถูกยึดพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดง

 


และจากสภาวะกดดันมากขึ้นเรื่อยๆทำให้ทหารใช้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ โดยตั้งด่านอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการลำเลียงเสบียงและเติมคนเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม

 


แต่ปรากฎว่าได้มีการตั้งบังเกอร์บริเวณรอบนอกพื้นที่ชุมนุมและนำเอาอาวุธมาโจมตีทหารถึงด่านตรวจจนกระทั่งวันที่ 19พ.ค.ทหารได้ตัดสินใจเข้ากระชับพื้นที่โดยมุ่งหน้าไปที่ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นสถานกานที่ซ่องสุมของกองกำลังติดอาวุธ

 


และที่สำคัญตลอดช่วงของปฏิบัติการก็ได้ปรากฏเอกสารคำสั่งของศอฉ.ที่ได้ออกคำสั่งจากเบาไปหาหนัก ซึ่งประเด็นนี้ปปช.มองว่าถือเป็นการออกคำสั่งโดยคำนึงถึงสถานการณ์เป็นอย่างดีแล้ว


ยกตัวอย่างเช่น
บันทึกข้อความส่วนราชการ สยก.ศอฉ.
ที่ กห. 0407.45 (สยก.)/130 วันที่ 17 เม.ย. 53


เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่


 

แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในการใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่


1.แนวทางการปฏิบัติทั่วไป

1.1 แนวทางการปฏิบัตินี้ ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ซึ่งอนุญาตให้กำลังพลสามารถใช้อาวุธประจำกายและอาวุธปืนพกได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์


1.2 การใช้อาวุธในการป้องกันตนเอง และรักษาความปลอดภัยฯ ต้องการเป็นป้องกันอันตรายที่ใกล้จะมาถึง และเป็นอันตรายต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินทางราชการ และเอกชนที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ก่อเหตุกำลังระเบิดใส่ กำลังเล็งปืนใส่ กำลังถือมีดเข้าทำร้ายร่างกาย เป็นต้น


1.3 การป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยฯ ต้องเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่น และสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการใช้อาวุธนั้น ต้องใช้เท่าที่จำเป็น จากเบาไปหาหนัก และมีแจ้งเตือนการปฏิบัติกับผู้ก่อเหตุก่อนเสมอ


1.4 การใช้อาวุธจะไม่อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่กระจ่างชัด หรือการใช้อาวุธที่ปราศจากความแม่นยำ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องได้ เช่น การยิงกราด การยิงสุ่ม และการยิงที่ไม่เล็ง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ใช้การยิงอัตโนมัติ โดยหากจะใช้อาวุธต้องทำการยิงทีละนัดเท่านั้น และห้ามใช้อาวุธเล็งศีรษะหรือส่วนสำคัญของร่างกายโดยเด็ดขาด


1.5 ให้หน่วยกำหนดแนวทางห้ามผ่านเด็ดขาดบริเวณที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งใช้เครื่องหมายหรือประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ

 


1.6 หากมีความจำเป็นในการใช้อาวุธแล้ว ต้องใช้ตามลำดับขั้น ดังนี้


ขั้นที่ 1 แจ้งเตือนด้วยวาจา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มีระดับความดังเสียงที่ผู้ก่อเหตุได้อย่างชัดเจน และกล่าวซ้ำหลายๆ ครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้ก่อเหตุหยุดการกระทำดังกล่าว ... "หยุดนี่คือเจ้าหน้าที่"


ขั้นที่ 2 การยิงเตือนขึ้นฟ้า หรือเป็นการยิงในทิศทางที่ปลอดภัย


ขั้นที่ 3 การใช้อาวุธตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ สรุปคือเป็นการยิงที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ก่อเหตุเป็นอันตรายถึงชีวิต

 


ทั้งนี้ การปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวอาจปฏิบัติข้ามการปฏิบัติเป็นขั้นที่ 2 หรือ 3 โดยทันที ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ประสบกับภัยคุกคามที่ใกล้จะมาถึงและเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองและบุคคลอื่นที่อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่

 


เอกสารดังกล่าวยังระบุถึงหมายเหตุการณ์ปฏิบัติการเอาไว้ในตอนท้ายอีกด้วยว่า

1. เมื่อผู้ชุมนุมมีการรวมตัวที่บริเวณภายนอกที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญให้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุทราบว่า หากมีการบุกรุกเข้ามา เจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการปฏิบัติและการใช้อาวุธอย่างไร โดยให้มีการประกาศซ้ำหลายๆ ครั้ง


2. แนวทางการใช้อาวุธตามคำแนะนำฯ นี้ ไม่จำกัดสิทธิ์ในการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและบุคคลอื่นจากการกระทำของผู้ก่อเหตุ ที่เป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ


3. กรณีประสบเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสให้เจ้าหน้าที่ที่ประสบเหตุสามารถใช้อาวุธเพื่อระงับเหตุการณ์นั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งใดๆ


4. ห้ามใช้อาวุธยิงใส่ยานพาหนะต้องสงสัยใดๆ ที่ขับฝ่าด่านตรวจ/จุดตรวจ/จุดสกัด โดยให้จดจำเลขทะเบียนและลักษณะที่สำคัญแจ้งให้หน่วยในพื้นที่ใกล้เคียง (ทั้งทหาร - ตำรวจ) ดำเนินการสกัดให้หยุดและตรวจค้น เว้นแต่ได้รับแจ้งยืนยันแน่ชัดแล้วว่ายานพาหนะนั้นเป็นการหลบหนีของผู้ก่อเหตุ จึงสามารถใช้อาวุธยิงโดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ เพื่อสกัดให้หยุดการเคลื่อนที่


5. ยานพาหนะที่จงใจขับพุ่งชนเพื่อฝ่าแนวต้านทานเข้ามาในที่ตั้งหน่วย หรือสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ให้สามารถใช้อาวุธยิงเพื่อหยุดยานพาหนะนั้นได้โดยเล็งที่บริเวณเครื่องยนต์ หรือหม้อน้ำของยานพาหนะ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องประกาศให้ผู้ก่อเหตุทราบ ในลักษณะ "หยุด ถ้าไม่หยุดเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ"

 


ไม่เพียงเท่านั้นจากการที่นายอภิสิทธิ์ประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน ยังได้รับการคุมครองตามมาตรา 17 ดังนี้

 


พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548


มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกําหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่