"สนธิญาณ" ชี้ !! "สุเทพ-อภิสิทธิ์" เดินคนละทาง อนาคต ปชป. มืดมนมีบทเรียนในประวัติศาสตร์และจะแพ้ พท. ต่อไป ตามคำสบประมาท !!

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ www.tnews.co.th

ยุคล : สวัสดีครับ ต้อนรับท่านผู้ชมเข้ามาในรายการของยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการขยับทางการเมืองที่น่าสนใจ ในวิถีของพรรคประชาธิปัตย์ สืบเนื่องจากว่า ที่ผ่านมามักจะมีการถามไถอยู่เสมอว่าโรดแมปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2561 จริงหรือไม่ แน่นอนครับว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงที่จะเข้ามาแก่งแย่งเก้าอี้ ส.ส.ในการเลือกตั้งทุกยุคสมัย และมีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่เสมอเช่นเดียวกัน และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สื่อข่าวไปสอบถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพร้อมที่จะเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง ในฐานะหรือว่าบทบาทของหัวหน้าพรรคหรือไม่ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ตอบว่า ใช่ นั่นหมายความว่าพร้อมที่จะขึ้นเป็นแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันปรากฏว่า มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากๆ จากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมที่จะสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 4 - 5 ปี เพราะฉะนั้นด้วยท่าทีและจุดยืนที่สวนทางกันของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ จึงเป็นหัวข้อที่เราจะได้มาพูดคุยกับคุณสนธิญาณในวันนี้ นั่นก็คือว่า "สุเทพ-อภิสิทธิ์ เดินคนละทางสร้างดาวคนละดวง อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร" เราไปพบกับคุณสนธิญาณกันครับ สวัสดีครับคุณสนธิญาณครับ

 

สนธิญาณ : สวัสดีครับคุณยุคล สวัสดีครับท่านผู้ชมสปริงนิวส์และแฟนข่าวทีนิวส์ทุกท่านครับ

 

ยุคล : เชื่อว่าคุณสนธิญาณน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว การที่ตั้งประเด็นออกมาแบบนี้ อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรครับ

 

สนธิญาณ : ภายใต้ความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างคุณสุเทพกับคุณอภิสิทธิ์ ผมตอบได้เลยครับ อนาคตพรรคประชาธิปัตย์มืดมน

 

ยุคล : ไม่มีอนาคตขนาดนั้นเลยหรือครับ

 

สนธิญาณ : ไม่ใช่ไม่มีอนาคตครับ ความหมายของคำว่ามืดมน เราจะต้องทำความรู้จักพรรคประชาธิปัตย์กันให้ดีเสียก่อน หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ ทั้งตัวคุณอภิสิทธิ์เองก็อาจจะตั้งข้อสังเกตว่าผมไปรังเกียจหรือไม่ มีอะไรที่ไม่ชอบใจคุณอภิสิทธิ์หรือเปล่า ถึงมีอะไรก็ออกมาทักท้วง มาพูดจาในทำนองที่สวนทางกันอยู่เรื่อย ก็ต้องเรียนว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นกลไกส่วนหนึ่งของการเมืองประเทศไทย กระบวนการความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราจะต้องโทษพรรคเพื่อไทยและบรรดาเครือข่ายของคุณทักษิณ เราก็ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของประเทศเช่นกัน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถพัฒนาตัวเองจนชนะพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง สามารถใช้ระบบรัฐสภาได้ หรือการถ่วงดุลของพรรคประชาธิปัตย์ทำงานอย่างเป็นระบบสามารถที่จะตรึงพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยในสภาให้อยู่หมัดได้ สามารถสร้างให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนำพาการเปลี่ยนแปลงประเทศได้เพราะการเลือกตั้ง วิกฤตทางการเมืองการชุมนุมประท้วงก็จะไม่เกิดขึ้น การเข้ามายึดอำนาจของ คสช. ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ ว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาประเทศ

 

ยุคล : แล้วพรรคประชาธิปัตย์เองก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวนอกสภาด้วย

 

สนธิญาณ : แน่นอนครับในนามของ กปปส. ทีนี้ประเด็นสำคัญที่ผมจะเรียน รวมทั้งเรียนฝากไปถึงบรรดาผู้ที่มีอำนาจอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในขณะนี้ หรือผู้ที่กำลังคิดสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ว่าสิ่งที่ผมพูดว่ามืดมนต้องกลับมาดูประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อนครับ พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 7 คน ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา 4 คนเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ได้แก่คุณควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนอีก 3 คนไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมมันตร์, นายพิชัย รัตกุล และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สำคัญอยู่ตรงที่จะต้องไปดูว่าหัวหน้าพรรคที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นล้วนแต่เกิดขึ้นจากบทบาทของเลขาธิการพรรคอย่างมีนัยยะสำคัญ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มีมาทั้งสิ้น 16 คน ในจำนวนนั้นมี 3 คนที่โดดเด่นมาก คือ 1.วีระกานต์ มุสิกพงศ์ หรือชื่อเดิมวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในวัยที่ไม่ถึง 40 ปี ทรงอิทธิพลทางการเมืองและทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความสำเร็จสูงสุดในยุคสมัยนั้น

 

ยุคล : ปัจจุบันมามีบทบาทกับคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

 

สนธิญาณ : ก็มีความแตกแยกกันในพรรคประชาธิปัตย์ เดี๋ยวผมจะขยายให้ทราบครับ ต้องรู้จักพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผมบอกว่ามืดมนมาตั้งแต่ต้น คนที่ 2 ที่สร้างพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้มแข็งและแข็งแรง ก็คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งเส้นทางเดียวกันกับคุณวีระกานต์ครับ ท้ายที่สุดก็ระหกระเหออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคมหาชนและท้ายที่สุดก็ไปอยู่กับพรรคชาติไทย หรือชาติไทยพัฒนาของคุณบรรหาร ศิลปอาชา นั่นคือผู้ที่สร้างให้พรรคประชาธิปัตย์มีความเข้มแข็งและแข็งแรง ท้ายทีสุดก็คือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องถือว่าเป็นผู้ที่สร้างให้พรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้ชนะการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำนะครับ และยิ่งกลับมาดูประวัติศาสตร์ที่ผมเรียนว่าคุณสุเทพกับคุณอภิสิทธิ์ผูกพันกันมาอย่างแน่นแฟ้น หลังจากที่คุณชวน หลีกภัย ประกาศลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก่อนหน้านั้นพลตรีสนั่นหลุดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค จากข้อหาแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลุดออกไปในปี พ.ศ. 2543  คุณชวนก็ไปนำคุณอนันต์ อนันตกูล เข้ามาเป็นเลขาธิการขัดตาทัพ หมดยุคสมัยคุณชวนปรากฏว่าเกิดการต่อสู่ในการช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองและเป็นเรื่องที่น่านิยมยกย่อง

 

ยุคล : เป็นเรื่องดีๆ

 

สนธิญาณ : ถือว่าดีครับ สู่กัน เลือกตั้งกัน ฝั่งหนึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่มทศวรรษใหม่มีคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ลงสู้ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประกาศตัวว่ามีคุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค คุณประดิษฐ์หนุนคุณบัญญัติในขณะที่คุณบัญญัติลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปรากฏว่าจริงๆ แล้วเป็นตัวแทนของพล.ต.สนั่น เรียกว่าเป็นนักการเมืองที่เป็นลูกหม้อของพล.ต.สนั่น พล.ต.สนั่นแม้จะถอยออกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 แต่อิทธิพลในพรรคประชาธิปัตย์ยังล้น ถอยมาแล้วตั้ง 3 ปี ขับเคลื่อนพลังจนทำให้คุณบัญญัติชนะการเลือกตั้ง อีกฝั่งหนึ่งคู่ท้าชิงคือนายอภิสิทธิ์ที่มีนายชวนสนับสนุนขึ้นมา นายอภิสิทธิ์ประสบการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นถือว่าเป็นละอ่อนทางการเมือง ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต่อเนื่องมา เป็นอาจารย์นักวิชาการ หน้าตาดีเสียงดีอภิปรายดี แต่ในแง่ประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นโฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกระโดดขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นได้รับแรงหนุนจากนายชวน ที่สำคัญคนที่มาเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งขณะนั้นเป็นรองหัวหน้าพรรคคือคุณสุเทพ สู้พลังของพล.ต.สนั่นไม่ได้ แม้จะเดินออกจากพรรคไปแล้ว คุณบัญญัติจึงชนะการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่คุณบัญญัติเป็นหัวหน้าพรรคก็ลงสมัครรับเลือกตั้งสู้กับคุณทักษิณในปี พ.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2544 นายชวนแพ้มาแล้ว มาถึงปี พ.ศ. 2548 คุณบัญญัติแพ้อีก แต่คุณบัญญัติเป็นนักการเมืองที่เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง คุณบัญญัติบอกว่าถ้าแพ้เลือกตั้งจะลาออก ซึ่งได้ลาออกจริงๆ

 

ยุคล : แล้วต้องไปพร้อมกับเลขาธิการพรรคไหมครับ

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ คุณประดิษฐ์ก็ถอยออกมาและออกจากพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ที่มีบทบาทท้ายที่สุดก็หลุดและออกจากพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์จึงเป็นหนึ่งเดียว ลงสมัครรับเลือกตั้ง นำพาพรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งไปในปี พ.ศ. 2550 แต่แพ้ให้พรรคพลังประชาชนที่ทักษิณสนับสนุน ท้ายที่สุดคุณสุเทพก็ทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้คะแนนจะแพ้การเลือกตั้ง ผมต้องเรียนว่าทำไมต้องบอกว่าคุณสุเทพเป็นคนทำ เพราะคุณสุเทพเป็นคนเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำแบบเดียวกันเหมือนกับที่พล.ต.สนั่นเคยทำให้นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 มาแล้ว คือสร้างงูเห่าภาค 2 ส่วนภาค 2 จะเป็นอย่างไรเราจะต้องมาดูกันและย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ให้ชัดเจน ว่าตั้งแต่ตั้งพรรคมา 80 ปี เลือกตั้งชนะมากี่ครั้ง แล้วทำไมครั้งที่จะถึงผมถึงย้ำว่า ยังมืดมน อ่านการเมืองไม่ขาด โกหกตัวเองหรือเปล่าไม่รู้ครับ เดี๋ยวมาดูข้อมูลกัน

 

ยุคล : ถ้าดูตามนี้ประวัติของคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์จากเดิมเดินทางเดียวกัน สร้างดาวดวงเดียวกัน แต่วันนี้หัวข้อบอกว่า เดินคนละทางสร้างดาวคนละดวงแล้ว

 

สนธิญาณ : แน่นอนครับ คุณอภิสิทธิ์ประกาศจะเป็นหัวหน้าพรรคต่อ ก็ต้องลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บรรดาผู้ใกล้ชิดสนิทสนมที่ห้อมล้อมอยู่ทั้งหลายก็ออกมาเชียร์กันไป คุณสุเทพออกมาสวนและพูดในช่องบลูสกายด้วยนะครับ เจตนาคุณสุเทพจะส่งไปถึงผู้คนในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปคิดและพิจารณากัน

 

ยุคล : เดี๋ยวกลับมาตามกันต่อในเบรคหน้า ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่เดียวครับ

ยุคล : ตามกันต่อในเบรคที่สองกับยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ การที่คุณสนธิญาณเลือกที่จะฟันธงว่าอนาคตต่อจากนี้ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นมืดมน เบรคนี้ตามที่ทิ้งค้างเอาไว้ในเบรคที่แล้วว่า จะมาฉายข้อมูลเป็นตัวเลขสถิติการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และการขึ้นไปเป็นผู้บริหารประเทศ หรือว่าการได้เป็นนายกรัฐมนตรีของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีสถิติอะไรที่เราต้องย้อนกลับไปดูกันบ้าง

 

สนธิญาณ : เราต้องกลับมาดูอย่างนี้ครับ พรรคประชาธิปัตย์เวลาพูดจะอ้างมาเสมอว่าตั้งมา 80 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำอ้างอิงที่ถูกต้อง แต่เราต้องรู้จักว่าใน 80 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีที่ชื่อนายควง เอาหลักการการเลือกตั้งตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเพราะอยู่ในองคาพยพ กระบวนการทางการเมืองของคณะราษฎร์ เป็นเรื่องเป็นราวมาเลือกตั้งในยุคลสมัยหลังปี พ.ศ. 2490 ซึ่งในขณะนั้นเราเรียกว่ายุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจอมพล ป. มีพรรคเสรีมนังคศิลาเป็นพรรครัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งแพ้ แน่นอนครับเพราะฟากฝั่งของจอมพล ป. ใช้วิธีการเลือกตั้งทุกครั้ง ใช้อำนาจรัฐใช้กลวิธีทุกอย่างให้ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ก็ค่อยๆ ก่อบทบาทในฐานะพรรคฝ่ายค้านขึ้น ทำให้ผู้คนยอมรับนับถือนักการเมืองที่มีคุณภาพ เพราะฝ่ายเผด็จการทหารหรือฝ่ายเผด็จการมาอ้างอิงตัวเอง

 

ยุคล : ต้นกำเนิดที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมีคุณภาพต่อสู้

 

สนธิญาณ : ต่อจากยุคจอมพล ป. เข้าสู่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านอีก หมดจอมพลสฤษดิ์มาถึงยุคจอมพลถนอม ก็ตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นมาอีก คือเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารเผด็จการ ทหารครองอำนาจ ด้านพรรคประชาธิปัตย์ก็ต่อสู้และอยู่ในนามฝ่ายค้าน ในยุคลพรรคสหประชาไทยน่าสนใจ มีนักการเมืองหนุ่มอยู่ 3 คนเกิดขึ้นเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์โดดเด่นมาก คือ นายชวน หลีกภัย, นายอุทัย พิมพ์ใจชน และนายสมัคร สุนทรเวช สองคนหลังแตกแยกออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ต้องแจกแจงเพราะมีความขัดแย้งในการต่อสู้กัน และต้องแยกแตกออกไป ไปตั้งพรรคของตัวเอง ซึ่งเมื่อหมดยุคนั้นก็เข้าสู่ยุคหลัง 14 ตุลา ประชาชนเดินขบวนต่อสู้ 14 ตุลา ที่เรารู้จักกันดี พรรคเผด็จการทหารแตกสลายไป รูปแบบของพรรคการเมืองถูกวิวัฒนาการพัฒนาขึ้น กลุ่มที่เคยเล่นการเมืองเราเรียกว่ากลุ่มอำนาจเก่า พรรคชาติไทย ซอยราชครู ซึ่งต่อเนื่องมาจากจอมพล ป. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกมาตั้งพรรคกิจสังคม ซอยราชครูตั้งพรรคชาติไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ต่อเนื่องประคับประคองเลือกตั้งได้ แพ้ชนะบ้างต่อสู้เกมกันทางการเมือง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกเล่นงานในสภาพลิกคว่ำพลิกหงายการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จนมาถึงยุคใหม่ คือ การเลือกตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2554 ใน 32 ปี คนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ คนที่เป็นคนรุ่นใหม่กลับไปทบทวนผลการเลือกตั้ง การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์แล้วเราจะเห็นภาพ เลือกตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่วงแรกๆ ถูกใส่ร้ายกล่าวหาว่าคุณชวนเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นสูง ผลปรากฏว่าผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ 35 ที่นั่ง ในขณะนั้นต้องไปเชิญพ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทางฝั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ 88 ที่นั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือผู้สร้างพรรคกิจสังคมขึ้นมา ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ดูนะครับบทเรียน จากปี พ.ศ. 2522 มาถึงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2526 ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะสนับสนุนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แกนไม่ได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ แต่อยู่ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พรรคกิจสังคมที่สนับสนุนพล.อ.เปรม เหมือนกับที่คุณสุเทพพยายามจะสนับสนุนตอนนี้ เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ฟันธงเช่นกันว่าคนที่จะแก้วิกฤตปัญหาบ้านเมือง วิกฤตในการที่จะดุลให้ทหารให้พอดี ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ให้ได้ รักษาการเมืองให้มีเสถียรภาพต้องเป็น พล.อ.เปรม เท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็เกาะบารมีของพล.อ.เปรม แต่เลือกตั้งในปี พ.ศ. 2526 ได้ 56 ที่นั่ง พรรคที่นำพาเสียงมากที่สุดคือพรรคชาติไทยได้ 110 ที่นั่ง ถือว่าเป็นประวัติกาล แต่แทนที่จะสนับสนุนพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี กลับประกาศว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ผมจะทวนเหมือนกับที่คุณอภิสิทธิ์ประกาศ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคำประกาศของพล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อย่างนี้จึงถูกลอยแพให้เป็นฝ่ายค้าน ทุกคนทุกพรรคไปร่วมกันหนุนให้พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ยุคล : ขณะนั้นพรรคชาติไทยได้เสียงเบอร์หนึ่ง แต่ถูกลอยแพ

 

สนธิญาณ : ใช่ครับ เป็นที่มาที่ทำให้คุณบรรหารพูดว่า "เป็นฝ่ายค้านจนอดอยากปากแห้ง" เข้าสู่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2529 คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อุดมการณ์ของคุณวีระกานต์ในขณะนั้นคือผู้ที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.เปรม อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนกัน นำพาพรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งได้เป็นอันดับหนึ่ง ได้ 99 ที่นั่ง นี่เป็นการเลือกตั้งในยุคหลังครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคอื่นๆ มาเป็นอันดับ 1 ด้วยฝีมือของคุณวีระกานต์ เป็นรัฐบาลร่วมกับเขาจนถึงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2531 พล.อ.เปรม ประกาศวางมือจากการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ จาก 99 ที่นั่ง คุณวีระกานต์หลุดออกจากวงจรพรรคประชาธิปัตย์เพราะขัดแย้งกันในการจะตั้งหัวหน้าพรรค คุณวีระกานต์ต่อสู้กับคุณวิชัย รัตตกุล คุณวีระกานต์ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งคุณวิชัยเป็นหัวหน้าพรรค เห็นไหมครับที่ผมบอกว่าทำไมมืดมน เวลาหัวหน้ากับเลขาฯหรืออดีตเลขาฯขัดกัน ผลจะเกิดแบบนี้ครับ ปรากฏว่าคุณวีระกานต์แยกออกมาตั้งพรรคประชาชนขึ้นก็ยังได้เสียงเลือกตั้งในภาคใต้ หลายคนออกตามคุณวีระกานต์มา ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เหลือแค่ 48 ที่นั่ง ซึ่งพล.อ.เปรม ประกาศไม่ลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อทำให้พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลนี้ เพราะพรรคชาติไทยมาด้วย 87 ที่นั่ง เขาเป็นพรรคฝ่ายค้านนะครับตอนนั้นจาก 110 ที่นั่ง มาเป็น64 ที่นั่ง แล้วได้ 87 ที่นั่งเป็นอันดับหนึ่ง ปรากฏว่ารัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ทุจริตคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ อาจจะเป็นข้ออ้างส่วนหนึ่งเพราะจะมีการปลดผู้นำกองทัพ ซึ่งกำลังทรงอำนาจอย่างเต็มที่ คือรุ่น 5 นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งรัฐบาลของพล.อ.ชาติชายตั้งพล.อ.อาทิตย์ มาซึ่งเป็นคู่ความขัดแย้งมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทหารกลัวโดนปลดก็ยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 หลังจากยึดอำนาจก็จัดให้มีการเลือกตั้ง เราเรียกว่าการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ทหารก็ไปตั้งพรรคกันมาชื่อว่าพรรคสามัคคีธรรม ผลการเลือกตั้งใน 35/1 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ 44 ที่นั่ง เลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่ามีการคัดค้านไม่ให้คุณณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นแกนนำทหารหนุนเข้ามารวบรวมพลพรรคตั้งนายกรัฐมนตรี จึงมีการเสนอชื่อพล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นที่มาการชุมนุมของประชาชนจนเกิดพฤษภาทมิฬ ทวนประวัติศาสตร์การเมืองให้เห็นนะครับ เกิดพฤษภาทมิฬ เขาร่วมกันต่อสู้จนเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 เรียกว่า 35/2 ในเดือนกันยายน ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ 79 ที่นั่ง เที่ยวนี้ล่ะครับสง่างาม มีนายชวน ซึ่งต้องถือว่าเป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตยการเมืองของไทย นำพาการเลือกตั้งกระโดดเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2534 ในช่วงรอยต่อดังกล่าว จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม นี่เป็นการเลือกตั้งที่ชนะเป็นครั้งที่สองในรอบ 12 ครั้งที่ผ่านมา หลังจากปี พ.ศ. 2535 นานชวนก็เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี พ.ศ. 2538 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ลดเหลือ 38 ที่นั่ง นายบรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคชาติไทยได้ 92 ที่นั่ง นายบรรหารเข้าควบคุมพรรคชาติไทยแทนพล.ต.ประมาณ หมดยุคนายบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยุบสภา เลือกตั้งต่อในปี พ.ศ. 2539 พรรคประชาธิปัตย์พาตัวเองขึ้นมาได้ 120 ที่นั่ง แต่พรรคความหวังใหม่ได้ 125 ที่นั่ง ก็ยังแพ้เหมือนเดิมอีก นี่คือประวัติศาสตร์ทางการเมืองในช่วงนั้น หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ยุคทักษิณ ชินวัตร การเมืองเกิดการวิวัฒนาการในรอบนี้ เราเห็นว่าการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ชนะมา 2 ครั้งเองนะครับที่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง มาถึงยุคทักษิณคนในพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ชี้หน้าพรรคประชาธิปัตย์เสมอมาว่าเลือกตั้งไปเถอะ 100 ปี ก็ไม่ชนะ แล้วจะชนะหรือไม่เรามาดูข้อมูลกัน พรรคประชาธิปัตย์เจ็บใจที่ถูกเขาดูถูกเหยียบหยามไหม พยายามแก้ไขปัญหาไหม พยายามต่อสู้ช่วงชิงฟาดฟันกันเองในพรรคเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

 

ยุคล : คือถ้ามองจากในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสที่จะต่อสู้และมีโอกาสที่จะชนะบ้าง แต่ครั้งนี้ในยุคทักษิณ ตามที่คุณสนธิญาณกำลังจะฉายต่อในเบรคหน้า ถูกปรามาสเอาไว้เลยว่า สู้ให้ตายกี่ครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็จะแพ้พรรคเพื่อไทย จะเป็นแบบนั้นได้อย่างไรมีเหตุผลสนับสนุนอย่างไรบ้าง มาตามต่อในเบรคหน้า ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่เดียวกัน

 

ยุคล : กลับเข้ามายังเบรคสุดท้าย คุณสนธิญาณสรุปมาตั้งแต่เบรคแรกนะครับว่า อนาคตนั้นมืดมนและนำเรียนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาในอดีต จนก้าวมาถึงยุคของนายทักษิณที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกสบประมาทมาโดยตลอดว่า สู้กับเครือข่ายของระบอบทักษิณไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย สู้กันกี่ครั้งก็ไม่มีวันชนะพรรคเพื่อไทยไปได้ ตรงนี้แรงมากนะครับ ถูกดูถูกดูแคลนแบบนี้

 

สนธิญาณ : ถูกดูถูกดูแคลนแบบนี้แล้วพรรคประชาธิปัตย์รู้สึกสำนึกไหมครับ เราต้องมาพิจารณา ผมเรียนว่าการเมืองที่ก้าวเข้าสู้ยุคทักษิณเป็นอีกยุคหนึ่งแตกต่างจากการเมืองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ที่ผมเรียกว่าการเลือกตั้งยุคหลังจาก พ.ศ. 2522 มาจนถึงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 เราจะเห็นได้ชัดว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นนักการเมืองมืออาชีพ ซื้อตัวกันไปซื้อตัวกันมา คนโน้นมีอำนาจก็ไปกวาดต้อนคนนั้นมา แต่การเกิดขึ้นของทักษิณไม่ใช่ครับ ทักษิณเป็นนายทุนใหญ่ที่มีเงินของตัวเองนับหมื่นล้าน เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มีสัมพันธ์อันล้ำลึกในระบบราชการ โดยเฉพาะทหารและตำรวจ มีวิธีคิดที่เหนือกว่านักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะใช้วิธีคิดทางการตลาดนำการเมือง องคพยพที่พร้อมทุกอย่าง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีพื้นฐานหลายส่วนที่เข้ามาดุลต่อสู้ช่วงชิงรวมกันแตกตัว เพราะฉะนั้นในยุคสมัยนายชวนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มี พล.ต.สนั่น เป็นเลขาธิการพรรค เลือกตั้งทักษิณกวาดไป 248 ที่นั่ง ในปี พ.ศ. 2544 เป็นการเกิดขึ้นอย่างสง่างามใหญ่โต ทักษิณก็แบบเดียวกัน นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ก็คิดว่าทักษิณไปกวาดเอาคุณเสนาะ พวกโน้นพวกนี้มารวมกันในพรรคเดี๋ยวก็แตก แต่ผลกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเข้าสู่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 ปรากฏว่าจาก 248 ที่นั่ง กับ 128 ที่นั่ง จำนวน 248 ที่นั่ง ทักษิณกวาดไป 375 ที่นั่ง นี่คือสมัยคุณบัญญัติ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ 96 ที่นั่ง ลดลงไป 34 ที่นั่ง ในจำนวน 2 ครั้งนี้เรากลับมาดูยุคคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ มาแบบเดิมเลยครับ พรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนได้ 232 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 165 ที่นั่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 ที่นั่ง แล้วครั้งหน้าคุณจะเอาอะไรมาชนะครับ คุณอาจจะตอบประชาชน อาจจะบอกว่าสนธิญาณสบประมาทไม่ชอบอภิสิทธิ์ เพราะพูดแบบนี้ครับถึงแพ้ เพราะคุณไม่เคยดูตัวเอง พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างหมดรูปสิ้นเชิงเพราะการเลือกตั้งในภาคอีสาน เมื่อก่อนพรรคประชาธิปัตย์มีขุนทัพแม่ทัพภาคอีสาน คือ ขุนทอง ภูผิวเดือน นักการเมืองอาชีพนำพาสร้างความศรัทธาให้กับประชาชน นำพาการเลือกตั้งในอีสานประสบความสำเร็จมา

 

ยุคล : หมายความว่าในอดีตที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยประสบความสำเร็จในภาคอีสาน

 

สนธิญาณ : เคยครับและยิ่งใหญ่ครับ พรรคของทหารที่เคยไปตั้งก็ไปกวาดต้อน ส.ส. แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็นำพามาได้ หลังจากคุณขุนทองสร้างนักการเมืองขึ้นมาอีกคนหนึ่งคือ ประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งตอนหลังไปอยู่พรรคไทยรักไทย เป็นแม่ทัพภาคอีสานวันดีคืนดีถูกพรรคประชาธิปัตย์ฟาดฟันจนต้องกระเด็นไปเหมือนกันอีก เลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ทักษิณเจริญเติบโตเข้มแข็งแข็งแรงได้เสียง 248 ที่นั่ง แต่ไปดูที่ภาคอีสาน พรรคไทยรักไทยได้ 86 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 5 ที่นั่ง มาในปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยได้ 126 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 ที่นั่ง หมดยุคนั้นทักษิณระเหเร่ร่อนไปอยู่ต่างประเทศ คุณสมัครมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในปี พ.ศ.  2550 ในภาคอีสานได้ 101 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 5 ที่นั่ง นี่คุณอภิสิทธิ์ลงแข่งเองเลยครับ เป็นฝ่ายค้านอาจจะอ้างได้ ไม่ไหวเป็นฝ่ายค้านจะเอาอะไรไปสู้ เขาเป็นรัฐบาล แต่ความจริงตอนนั้นเลือกตั้งมาไม่ได้อยู่ในฐานะฝ่ายค้าน แต่เป็นกลางเสียด้วยซ้ำไป เพราะคนที่จัดการเลือกตั้งถูก คมช. ยึดอำนาจทักษิณ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ดูแลอำนาจทางการเมืองและเลือกตั้งก็แพ้ ปี พ.ศ. 2554 คุณอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง พรรคไทยรักไทยซึ่งต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชนร่วมมือกับ นปช. ชุมนุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2553 เกิดพฤษภาปิดแยกราชประสงค์ เกิดกองกำลังติดอาวุธ เลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยก็ยังชนะได้ 265 ที่นั่ง ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ไปดูที่ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยได้ 104 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 4 ที่นั่ง เป็นอย่างไรครับถอยหลังจาก 5 เหลือ 4 ที่นั่ง ในขณะนั้นพรรคภูมิใจไทย เนวิน ชิดชอบ แตกออกมาจากพรรคเพื่อไทย ยังได้ 13 ที่นั่ง เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้คำถามคือว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอะไรไปชนะ ในพื้นที่ภาคอีสาน คุณไม่เคยชนะในการเลือกตั้งไม่ว่ารูปแบบไหนทุกครั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา 12 ครั้ง เคยชนะการเลือกตั้งเพียง 2 ครั้ง ในยุคสมัยคุณวีระกานต์เป็นเลขาธิการพรรค และตอนสนับสนุนพล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี กับยุคที่ พล.ต.สนั่น เป็นเลขาธิการพรรคและสนับสนุนให้คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรี แค่นี้ครับ เพราะฉะนั้นที่ผมพูดว่าอนาคตจะมืดมน คุณดูต่อไป การเลือกตั้งครั้งนี้ มี ส.ว. 250 ที่นั่งงมาตรึงที่นั่งอยู่ในสภา ถ้าพรรคเพื่อไทยยังได้ 200 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ถ้าได้ 150 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะจะโหวตนายกรัฐมนตรีต้องได้ 376 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งถ้าโหวตหาก คสช. ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แน่นอนครับหากพล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งวันนี้คุณทักษิณถือว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นคู่กรณี รัฐบาล คสช. พล.ประยุทธ์ก็ถือว่าถือว่าคุณทักษิณและพรรคพวกเครือข่ายทำให้เกิดปัญหาบ้านเมืองอยู่ กล่าวหากันชัดๆ โต้งๆ เพราะฉะนั้น ส.ว. ไม่มีทางไปโหวตให้พรรคเพื่อไทย แล้ว ส.ว. จะไปโหวตให้พรรคประชาธิปัตย์ไหมครับ ก็ไม่มีทาง เพราะไม่เชื่อมั่นพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อไม่โหวต ส.ว. ตรึงอยู่ การที่จะทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีทางเดียว เพราะเลือกตั้งแพ้พรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว คุณไม่ชนะในภาคอีสานและภาคเหนือ คุณไม่มีอะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะก็แสดงว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องมาโหวตให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี คุณจตุพรเขาชวนจับมืออีก คุณอภิสิทธิ์ประกาศเลยจับมือเหมือนกับจับมือตอนที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเรานักประชาธิปไตยนักเลือกตั้ง ไม่เอาทหารไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จะเอาคนที่มาจากการเลือกตั้ง คุณก็โหวตกันไปแบบนี้อาจจะเป็นได้ ส.ส. ทุกคนในสภา 500 คนรวมตัวกัน แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้น เกมจะอยู่ในจุดที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องยุบสภาเพื่อเป็นทางออกทางการเมือง เงินทองที่เตรียมกันไว้ หากันมา 100 ล้านบาทที่มากองกันไว้นะครับ ก็จะละลายหายวับไปกับตา นายทุนใหญ่นายทุนยักษ์ที่ไปขอมาสนับสนุนการเลือกตั้งทุกครั้ง จะเหนื่อยไหมครับในการเลือกตั้งที่ติดๆ กัน 3 เดือนครั้ง 5 เดือนครั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณสุเทพออกมาพูดจึงมีนัยยะอันสำคัญดังนี้ และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องตระหนัก ผมท้าทายไว้เหมือนกัน ถ้าประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเองแล้ว วันหนึ่งเสียงแพ้พรรคเพื่อไทย อยากไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าตระบัดสัตย์ ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน จบแบบนี้ง่ายๆครับ

 

ยุคล : จะเปลี่ยนใจมาสนับสนุนก็ไม่ได้แล้ว

 

สนธิญาณ : ตัวเองประกาศเองด่าทหาร ด่า คสช. แนวทางนักประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ว่ากันไปให้สุด ปัญหาบ้านเมืองอย่าไปสนใจ เอาประชาธิปไตยให้อยู่ในสมองตัวเองเป็นที่ตั้งไว้ก่อน

 

ยุคล : เอาล่ะครับก็ต้องมาติดตามดู เมื่อถึงสนามการเลือกตั้งแล้ว อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะมืดมนและแพ้พรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม ตามที่คุณสนธิญาณฟันธงเอาไว้หรือไม่ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณคุณสนธิญาณเป็นอย่างยิ่ง ลาคุณผู้ชมแต่เพียงเท่านี้กลับมาพบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ