ย้อนปมร้าว! ศึกภายใน "ปชป." จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงพรรคหรือไม่ ??

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

 

กลายเป็นปัญหาคาราคาซังยืดเยื้อมานาน  จนท้ายสุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจออกแถลงการณ์ตัดขาดกับ  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร  ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ด้วยเหตุผลสำคัญว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดีพอสำหรับการแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของคนกทม.

 

 

 


ทั้งนี้สาระของแถลงการณ์ที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ  โดยเฉพาะกับชาวกทม.ก็คือข้อบ่งชี้ว่า  การทำงานของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร  กับพรรคประชาธิปัตย์  เกิดปัญหามาโดยตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา  และแนวทางการพูดคุยเพื่อร่วมปรับปรุงแก้ไขที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามดำเนินการก็กลับไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่น้อยจากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  ทั้ง ๆ ที่ปัญหาต่าง ๆเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนคนกรุงเทพมหานคร  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและพรรคประชาธิปัตย์  เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ 

 


อย่างไรก็ตามกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์   ได้นำมาซึ่งคำถามว่าเป็นมติของพรรคหรือการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่  อย่างไร   หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำเรื่องขออนุมัติคสช.ให้สามารถประชุมพรรคเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบมาโดยตลอด 

 


โดย   นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะโฆษกประจำตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.   กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์ตัดขาดความรับผิดชอบกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการทำหน้าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า    จากกรณีดังกล่าวสิ่งที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่า การแถลงข่าวของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้  เป็นมติในนามของพรรคหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล เนื่องจากพรรคเป็นองค์กร มีกรรมการบริหารพรรคเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน   และหากมีการประชุมใดๆ จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย   เพราะมีคำสั่งการห้ามประชุมทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)         และข้อมูลทั้งหมดตนได้แจ้งให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  รับทราบแล้ว  และทางม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้สั่งการจากต่างประเทศให้ประชุมผู้บริหาร กทม. ทั้งหมด ในวันที่ 22 มกราคม 2559 นี้      เวลา 14.00 น. เพื่อหารือและหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว และจะมีการแถลงข่าวท่าทีอีกครั้ง ในวันเวลาดังกล่าว

 


จากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าง คงต้องไปพิจารณาในเชิงการเมือง  คือ    ปัญหาระหว่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  กับพรรคประชาธิปัตย์   สุกงอมเพียงพอถึงขั้นทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมาประกาศตัดขาดม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี  2539  หรือเมื่อ 20 ปีก่อน  ต่อสาธารณชนหรือไม่

 

         
โดยจากการย้อนข้อมูลกลับไป   พบว่า   ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์    เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี  2539    หลังจากร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย  กับ ดร.อำนวย วีรวรรณ  และมีสถานะเป็นรองเลขาธิการพรรคนำไทย พร้อมลงเลือกตั้งในเขต  6 กทม . แต่สอบตก ก่อนที่จะหวนลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปัต ย์ และเป็นส.ส.ครั้งแรกในเขตเลือกตั้งที่  6   บางรัก   สัมพันธวงศ์  สาทร   แขวงยานนาวา  และแขวงทุ่งมหาเมฆ 
       

 

ที่น่าสนใจก็คือแม้จะเป็นส.ส.สมัยแรก  แต่ก็ได้ความไว้วางใจจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ในรัฐบาลชวน  หลีกภัย   เมื่อปี  2540 -2543   และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะสมาชิกผุ้แทนราษฎรมาโดยตลอด      จนปี  2551   เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน    เมื่อนายอภิรักษ์  โกษะโยธิน    ตัดสินใจลาออกผู้ว่าฯกทม.กระทันหัน    เพราะถูกปปช.ชี้มูลความผิดเกี่ยวโยงการทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กทม.มูลค่ากว่า 6   พันล้านบาท   เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2551
        

 

ส่งผลทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนใหม่  ในวันที่  11 ม.ค. 2552  ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   ลงสนามแข่งขันกับบุคคลสำคัญ  อย่าง  นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคเพื่อไทย  ,    ร.ต.อ.นิติภูมิ  นวรัตน์  ,   อ.แก้วสรร  อติโพธิ  และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์   เทวกุล    ซึ่งปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์     เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งได้รับความไว้วางใจ   ให้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 15      ด้วยคะแนนถึง   9.35 แสนคะแนน    หรือคิดเป็น  ร้อยละ 45.41  ส่วนนายยุรนันท์  ได้คะแนน  6.12 แสนคะแนน  หรือ คิดเป็นร้อยละ  29.72

 


และถึงแม้ในช่วงการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และคนกรุงเทพมหานคร    ทั้งการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมปี  2554    การแก้ไขปัญหาการจราจร    รวมถึงปัญหากล้องวงจรปิดในช่วงสถานการณ์การเมืองในปี  2552 -2553  และพบว่ากล้องที่ถูกนำติดตั้งไม่ใช้สามารถใช้งานได้จริง  เนื่องจากเป็นกล้องดัมมี่หรือกล้องหลอกกว่า  600   ตัวตามจุดสำคัญ ๆ  ต่างในกทม. 


       

แต่เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง  พรรคประชาธิปัตย์   โดยเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการบริหารพรรค  หรือ 9  คนจาก 15 คน   ยังคงตัดสินใจเลือก   ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   เป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกครั้ง  แม้ว่ากรรมการบริหารอีกบางส่วนเห็นว่า นายกรณ์ จาติกวณิช    น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่าก็ตาม
        

 

ประเด็นสำคัญก็คือในวันที่   28 ธ.ค. 2555    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์     ซึ่งนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.สมัยที่ 2     แสดงความมั่นใจ ว่า  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  จะชนะคู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ  พงษ์เจริญ  จากพรรคเพื่อไทย  และระบุด้วยตัวเอง   ว่า  “ การทำงานของผู้ว่าฯ กทม.จะมีการประสานกับพรรคมากขึ้น  หลังจากที่พรรคได้แก้ข้อบังคับการจัดระบบการทำงานท้องถิ่นที่จะต้องมีระบบรายงานต่อพรรคมากขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรัฐอิสระจากพรรคนั้น  เป็นเพียงระยะห่างที่พรรคเปิดโอกาสให้บริหารเต็มที่  แต่หลังจากนี้พรรคจะติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.มากขึ้นหากได้รับเลือกตั้ง ”
 

 

ต้องยืนยันว่าไม่มีใครจะชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือข้อตกลง  ระหว่างนายอภิสิทธิ์กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เมื่อปี  2555  ได้ละเอียดเท่ากับบุคคลทั้งสอง   จนมาซึ่งสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่าผู้ว่าฯกทม.และพรรคประชาธิปัตย์จะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดไว้กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  จะย้อนกลายเป็นประเด็นปัญหาอีกครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา   ก่อนนำมาซึ่งแถลงการณ์ตัดขาดระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับตัวม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 

 


จุดหนึ่งที่ต้องพิจารณา   ก็คือในวันพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของพรรคประชาธิปัตย์   และมีข้อมูลว่า   ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ส่งเอกสารอ้างอิงต่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์  ว่ามี สก.และสข.พรรคประชาธิปัตย์ ถึง 44 คน จาก 46  คน   ที่ให้การสนับสนุนตนเองลงชิงชัยผู้ว่าฯกทม.แข่งกับ พล.ต.อ.พงศพัศ      และสิ่งที่ปรากฏจากผลการเลือกตั้ง หรือ  คะแนนที่  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับท่วมท้นจากคนกรุงเทพฯกว่า  1.26  ล้านคะแนน หรือ คิดเป็นร้อยละ  47.75  ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และทีมงาน   จนมองข้ามปฏิสัมพันธ์กับนายอภิสิทธิ์  และพรรคประชาธิปัตย์  หรือไม่

 


โดยเฉพาะกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรอยร้าวลึก   ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   กับพรรคประชาธิปัตย์    ซึ่งเกิดมาโดยตลอดนับตั้งแต่ต้นปี  2558     โดยเฉพาะกับกรณีฝนตกหนักกรุงเทพมหานคร  จนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน   และนำมาซึ่งคำพูดของ   ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   ในเชิงเสียดสีให้คนกรุงเทพฯไปอยู่บนดอยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม     จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกโจมตีอย่างหนัก   ในฐานะเป็นผู้เลือกม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.   จนกระทั่งนายอภิสิทธิ์ ต้องโพสต์เฟสบุ๊คส์ขอโทษคนกรุงเทพฯแทนม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  

 


ขณะที่การบริหารภายในกรุงเทพมหานคร ก็ถูกจับตาว่ามีปัญหาหรือไม่  เพราะมีการลาออกจากตำแหน่งของข้าราชการเมืองหลายตำแหน่ง  อาทิเช่น  


1.น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ลาออกจากตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯกทม.    โดยอ้างปัญหาด้านสุขภาพ


2.นายก้องศักดิ์  ยอดมณี   ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. อ้างเหตุผลไปศึกษาต่อปริญญาเอก


3.น.ส.วราพร ตระกูลชีวพานิตต์   ลาออกตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. โดยอ้างว่าต้องการไปทำกิจการส่วนตัว    รวมถึงต้องการไปสมัครเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย

 
4.นายสัญญา จันทรัตน์   ลาออกตำแหน่ง  เลขานุการผู้ว่าฯกทม.   โดยอ้างถึงเหตุผลด้านภารกิจการประกอบอาชีพเป็นทนายความ 

 


และที่ดูเหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็คือ  กรณีที่นายวิลาศ  จันทร์พิทักษ์ และนายวัชระ  เพชรทอง    2  อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์   ออกมาแถลงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารกทม.ในเชิงส่อทุจริตงบประมาณ  ใน  3 เรื่องสำคัญ คือ


1.การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่มีการอ้างว่า  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   ผู้ว่าฯกทม. มีการอนุมัติงบประมาณ ติดตั้งจำนวน 47,000 กว่าตัว  แต่มีการติดตั้งจริง 11,000 ตัว               

2.การขยายสัญญาเดินรถไฟฟ้า (บีทีเอส)  ออกไปอีก 30 ปี  ทั้งที่สัญญาเดิมยังเหลืออีก 17 ปี หรือ  หมดอายุในเดือนธันวาคม 2572    จนเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน)  เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากรมว.มหาดไทยก่อนอนุมัติดำเนินการ    รวมทั้งยังผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) เพราะไม่มีการเปิดซองประมูลราคา


3.โครงการประดับไฟตกแต่งที่ลานคนเมือง จำนวน 5 ล้านดวง ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 58 - 31 มกราคม  2559   ด้วยวงเงินมูลค่า 39.5 ล้านบาท  และมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง  รวมถึงมีลักษณะการจัดทำสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับบริษัทเอกชนบางราย

 


ไม่เท่านั้นเป็นทางด้านนายอภิสิทธิ์เองที่ออกมายอมรับผ่านสื่อ ว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ เป็นฝ่ายขอเลื่อนนัดถึง 2 ครั้ง  2 ครา เพื่อเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น   และรวมถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสายของนายอภิสิทธิ์  ยังระบุว่าที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ปฏิเสธการพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ถึงปัญหาความขัดแย้ง   แม้กระทั่งการรับสายโทรศัพท์ก็ตาม

 


อย่างไรก็ตามกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับนายอภิสิทธิ์  และกลุ่มอดีตส.ส.กทม.  มีข้อน่าสังเกตว่ามีทิศทางตรงข้ามกับกลุ่มส.ส.ภาคใต้  ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  อดีตเลขาพรรคประชาธิปัตย์  และรวมถึงตัวนายสุเทพ  ที่ระบุว่า   ปัญหาระหว่างม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับพรรคประชาธิปัตย์   เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับทบทวนบทเรียนว่า   ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร และหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้คือ   ทำให้พรรคเป็นที่คาดหวังของประชาชนว่าสามารถพึ่งพิงได้   พร้อมให้กำลังใจม.ร.ว.สุขุมพันธุ์      โดยขอให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเดินหน้าทำงานให้กับคนกรุงเทพฯต่อไป

 


ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  กรุงเทพมหานครกับพรรคอาจมีปัญหาการประสานงานบ้าง  แต่เชื่อว่า  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   เป็นคนรู้จักบุญคุณคน  และรู้ดีว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ทำให้ได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เพราะพรรคระดมช่วยกันเต็มที่  รวมทั้งยังเชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นนักประชาธิปไตยคนหนึ่งที่จะเปิดใจกว้าง  ยอมรับการตรวจสอบการทำงานของตัวเอง แน่นอน

 


คงต้องติดตามปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ว่าจะบานปลายหรือไม่ โดยเฉพาะปมลึกๆ ที่ถูกฝังรากลึกมานานจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร และกรณีที่เกิดกับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์คงเป็นเรื่องที่ยังไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ แน่นอน  จากผลการสำรวจความเห็นของกรุงเทพโพลที่สะท้อนว่าคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์กำลังลดลงเรื่อย ๆ