เคาะร่างรธน.ผ่าน 260 มาตรา - "แม่น้ำ 4 สาย" ต้องไขก๊อกใน 90 วัน หากลงเล่นการเมือง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"ชาติชาย ณ เชียงใหม่" เผยทบทวนร่างรธน.ไปกว่า 260 จาก 270 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล - "สปท." ลุยงานต่ออีก 1 ปี หลังประกาศใช้ ส่วนกรธ. - สนช. อยู่ต่ออีก 8 เดือน เพื่อทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จ - "แม่น้ำ 4 สาย" หากจะเล่นการเมืองต้องลาออกจากตำแหน่งใน 90 วัน

 

วันนี้ (27 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าการประชุม กรธ.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว 260 มาตรา จากทั้งหมดเบื้องต้น 270 มาตรา เป็นบทเฉพาะกาล 17 มาตรา และบทปกติ 253 มาตรา บทเฉพาะกาลมีเนื้อหาสาระเอาไว้สำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้ว ให้นำเอาคุณสมบัติของ ส.ส.และ ส.ว. ที่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้กับสมาชิก สนช.ด้วย ยกเว้นกรณีพิเศษที่ สนช. นั้นเป็นข้าราชการหรือสื่อมวลชน ก็ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการหรือสื่อมวลชนต่อไป โดยไม่ต้องลาออกเหมือน ส.ส.
         


นายชาติชาย กล่าวว่า กรธ.ยังได้กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่ง สนช. หากจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องลาออกจาก สนช.ภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะนำไปบังคับใช้กับองค์กรอื่นๆ ที่แต่งตั้งมาหลังจากการรัฐประหารด้วย อาทิ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คสช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หากอยากจะลงเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ก็ต้องลาออกหลังวันที่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งเหตุผลที่ กรธ.บัญญัติไว้แบบนี้ก็เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ ส่วน ครม. และ คสช.นั้น กรธ.ได้บัญญัติว่าต้องให้ทำหน้าที่จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน
         


นายชาติชาย กล่าวต่อว่า กรธ.ได้บัญญัติไว้ว่า สปท.นั้นจะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไปอีก 1 ปีหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูป ส่วน กรธ.นั้นให้อยู่ต่อเพื่อทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จจำนวน 10 ฉบับภายในระยะเวลา 8 เดือน และส่งให้ สนช. และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังจากนั้น กรธ.จึงจะพ้นหน้าที่ไป และ กรธ.จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้อีกเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อน 5 ฉบับ คือ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. และ 5.พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและการงบประมาณประกาศใช้ก็สามารถจัดการเลือกตั้ง โดยต้องทำภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน จึงทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ในตำแหน่งอย่างน้อยอีก 15 เดือน และให้พ้นจากตำแหน่งหลังมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะไม่กระทบกับโรดแมปเลือกตั้งทั่วไปของ คสช.ในปี 2560 แต่อย่างใด
         


นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้นั้น กรธ.กำหนดให้ไปเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้นๆ ซึ่งจะมีผลให้กรรมการในองค์กรใดอยู่ต่อ หรือต้องสรรหาใหม่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม โดยจะไม่ให้สิทธิกรรมการในองค์กรอิสระใดแสดงความเห็นเพื่อให้คงสถานะตัวเองให้อยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังได้กำหนดบทบัญญัติเพื่อรับรองหรือคุ้มครองการกระทำใดๆ ของ คสช.ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ด้วยเพราะหากไม่มีบทเฉพาะกาลรับรองบ้านเมืองจะเกิดสุญญากาศทางอำนาจ