"มีชัย" ให้คสช.ยึดอำนาจ ม.44 ตามเดิม - ขยับเลือกตั้งไปปลายปี 60 !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" แจงปมสปท.อยู่ต่อ 1 ปี เหตุเพราะต้องการให้มีผู้ที่ดำเนินการปฏิรูปต่อไป ยังคงอำนาจคสช.ตามมาตรา 44 ตามเดิม วอนสื่อช่วยกันดูหากคสช.เข้าแทรกแซงการเลือกตั้ง  - เลือกตั้งอาจเลื่อนไปปลายปี 2560 ชี้ให้ลงมติมาได้หาก "แม่น้ำ 4 สาย" ต้องลาออกใน 90 วัน หากจะลงเล่นการเมือง

 

วันนี้ (28 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาในบทเฉพาะกาล ว่า การที่ กรธ.ได้กำหนดบทเฉพาะกาลว่าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ต่อจนถึงการประชุมรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เนื่องมาจากต้องการให้ สนช.ออกกฎหมายเลือกตั้งพรรคการเมือง ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ต้องกำหนดให้อยู่ต่อ 1 ปีนั้น ก็เพื่อต้องการให้มีผู้ที่ดำเนินการปฏิรูปต่อไป
         

 

"สำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ได้รองรับไว้ไปถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในแก้ปัญหาของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อไป อีกทั้งช่วงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นมีรายละเอียดที่เป็นของใหม่เยอะ ดังนั้น ต้องฟังความเห็นอย่างกว้างขวางด้วย โดยในเฉพาะในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ ในช่วงหลังจากวันที่ 29 ม.ค.ที่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาให้สังคมได้เห็น" นายมีชัย กล่าว
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า คสช.จะไม่ไปใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง หรือจะใช้อำนาจจนถูกครหาว่าจะไม่เกิดความยุติธรรม ?

 

นายมีชัย กล่าวว่า พวกสื่อมวลชนนั่นแหละที่ต้องทำหน้าที่คอยเฝ้าดู มันไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ก็ต้องให้เขามีอำนาจตรงนี้ไว้ ส่วนกรณีที่ฝ่ายที่ต่อต้านจะหยิบยกตรงนี้ไปเป็นประเด็นโจมตีนั้น ตนคิดว่าฝ่ายต่อต้านก็คงจะมีธงที่จะต้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร แต่ขอว่าพวกสื่อมวลชนอย่าไปร่วมต่อต้านด้วยกัน
         

 

ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าการเลือกตั้งยังคงอยู่ในปี 2560 แต่อาจจะขยับไปอยู่ปลายปี จากเดิมที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ากลางปี แต่ถ้าหากหาคนที่มาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ได้โดยไม่หยุด กำหนดการเลือกตั้งก็อาจจะเร็วกว่านี้ได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ ก็มีจำกัด เพราะมีเวลาแค่ 8 เดือน โดยเฉลี่ยใน 1 เดือน ต้องร่างกฎหมายให้เสร็จมากกว่า 1 ฉบับ และไม่มีการร่างควบคู่กับ สนช.ด้วย ถ้าหากใครมองว่าระยะเวลาที่ กรธ.ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนานไป ถ้าหากคิดว่าร่างได้เร็วกว่าก็มาร่างแทนได้เลย
         

 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเห็นชอบกฎหมายนั้น สนช.จะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากนั้นเมื่อเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว สนช.จะต้องส่งกฎหมายไปให้องค์กรอิสระดู ภายใน 10 วัน ถ้าองค์กรอิสระไม่มีการทักท้วง ก็สามารถนำกฎหมายนั้นไปใช้ได้ แต่ถ้ามีการทักท้วงก็คงต้องมาคุยกันในรายละเอียด
         

 

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนหลักการที่ว่าให้สมาชิก สนช. , สปท. , คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องลาออกภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากต้องการสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น ถ้าตรงนี้ใครมองว่าไม่เป็นธรรม ก็ขอให้ลงมติมา เดี๋ยวจะแก้ให้ แต่เชื่อว่าหลักการนั้นเป็นธรรมที่สุดแล้ว ส่วนถ้ามีคนลาออกแล้วจะตั้งใครมาดำรงตำแหน่งแทน เรื่องนี้ คสช.คงจะเป็นผู้ตัดสินใจ
         

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่ กรธ.จะเอาข้อบังคับคุณลักษณะต้องห้าม ส.ส.และ ส.ว.มาบังคับใช้กับ สนช. ?

 


นายมีชัย กล่าวว่า ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อจะได้ไม่เป็นการดูว่าจะเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะถ้าข้อบังคับนั้นใช้กับ ส.ส.และ ส.ว.ได้ ก็ต้องบังคับใช้กับ สนช.ได้เช่นกัน ซึ่งก็คงจะมีข้อยกเว้นกับ สนช.ที่เป็นข้าราชการมาก่อน แต่ถ้าสมาชิก สนช.คนไหนรู้ตัวว่าตัวเองขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ตนเชื่อว่าเขาคงจะรู้ตัวและลาออกไปเอง