"ใจ อึ๊งภากรณ์" ถล่ม "รธน.มีชัย" เป็นร่างกระดาษชำระ ! มีไว้แช่แข็งปชต. -จุดยืนชัด ไม่รับแน่

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th


"ใจ อึ๊งภากรณ์" ซัดยับ  "ร่างรธน.มีชัย"  มีไว้แช่แข็งฝ่ายปชต. ตั้ง "คปป." ครอบงำพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง กดทับไม่ให้มีนโยบายเป็นของตนเอง จำกัดวาระนายกไม่เกิน 8 ปี  กั้นไม่ให้ทักษิณ กลับมาเป็น แถมเหยียบย้ำสิทธิพลเมืองหลายเรื่อง  -จุดยืนชัด ไม่รับร่างรธน.แน่

 

 

ใจ อึ๊งภากรณ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ   ได้แสดงความเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย  พร้อมระบุว่า "ร่างรัฐธรรมนูญ นี้เป็นเอกสารอัปลักษณ์อย่างที่ฝ่ายประชาธิปไตยทำนายไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะอะไรที่คายออกมาจาก...ของเผด็จการย่อมเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

 

 

แต่เมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๘ เมื่อปีที่แล้ว มัน “เนียนกว่า” ในการซ่อนความ..... เพราะมีการตัดหมวดที่เคยชวนให้ขำแบบตลกร้าย ซึ่งเคยพูดถึงคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่เป็น “คนดี” และมีการยกเลิก“คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการบังคับปรองดองแห่งชาติ” ที่เคยถูกเสนอให้เป็น “คณะมหาอำนาจ” เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต แต่ไม่มีการยกเลิกแนวคิดนี้แต่อย่างไร เพราะเอาอำนาจในการควบคุมรัฐบาลไปฝากไว้ที่อื่นดังนี้

 

 

 

มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้งในมาตรา 263 โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6

 

 

 

“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด และถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

 

 

 

นอกจากนี้มีการยืดเวลาการดำรงอยู่ขององค์กร “ปฏิกูลการเมือง” ที่แต่งตั้งโดยเผด็จการ ให้ยาวออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ายังต้อง “ปฏิรูป” อีกหลายเรื่อง มีการให้บทบาททหารหัวทึบ คสช. ในการ “ปฏิรูป”การศึกษา ซึ่งชวนให้เราสงสารเด็กไทยในอนาคตที่ต้องเติบโตภายใต้แนวคิดของคนอย่างประยุทธ์

 

 

 

 

มีการย้ายข้อความที่เคยดำรงอยู่ใน “มาตรา 7” ของรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเคยถูกอ้างโดยพวกอนุรักษ์นิยมว่าให้อำนาจกับกษัตริย์ในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีทักษิณและแต่งตั้งนายกคนใหม่ มาอยู่ในหมวดของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 207 ซึ่งเป็นการให้อำนาจล้นฟ้าให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างอำนาจเพิ่มให้กับศาลรัฐธรรมนูญ และต่ออายุ คสช. และองค์กรลูกของ คสช. เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

 

 

 

 

เราคงไม่แปลกใจที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดว่า “รัฐบาลของประชาชนจะมีสถานะเพียงนกเขาในกรง ที่โก่งคอขันได้ แต่ไร้อิสรภาพ”ในร่างขยะฉบับนี้การที่นายกรัฐมนตรีสามารถเป็น “คนนอก” ที่ไม่ใช่ สส. ถูกซ่อนไว้ในมาตรา 83 และ154

 

 

 

แน่นอนในมาตรา 270 มีการฟอกตัวและให้ความชอบธรรมจอมปลอม ให้กับคณะทหาร  สามารถฉีกรัฐธรรมนูญ และละเมิดชีวิตนักประชาธิปไตยในขณะที่กอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวเองและพรรคพวก

 

 

 

ในมาตรา 259 มีการยืดวันเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะร่างกฏหมายลูกต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการยืดเวลาของรัฐบาลเผด็จการออกไปอีก

 

 

 

คราวนี้ไม่มีการเสนอวิธีการเลือกตั้งปลอมให้กับสมาชิกวุฒิสภา คือให้ทั้ง 200 คนมาจากการลากตั้ง  มานั่งเลือกกันเองจากพรรคพวกเดียวกัน และวุฒิสภานี้จะมีอำนาจในการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลในอนาคต คนที่จะเป็นวุฒิสมาชิกต้องไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง แต่การเป็นอดีตทหารไม่เป็นอุปสรรคเลยแต่อย่างใด

 

 

 

ร่างกระดาษชำระ “ฉบับมีชัย” นี้ ยังคงไว้เนื้อหาสาระจากร่างฉบับปีที่แล้ว มีการสนับสนุนนโยบายคลั่งตลาด และมีเรื่องการห้ามไม่ให้รัฐบาลมีนโยบายที่ช่วยคนจน ภายใต้คำขวัญของ “การรักษาวินัยทางการคลัง” และเรื่องความ “พอเพียง” และยังถูกออกแบบให้จำกัดไม่ให้ทักษิณกลับมาเป็นนายกด้วยมาตรการต่างๆ เช่นการจำกัดวาระนายกรัฐมนตรีไม่ให้มากกว่า 8 ปี

 

 

 

 

ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นมาตรา 25 ซึ่งเป็นมาตราแรกในหมวดสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าสิทธิเสรีภาพถูกจำกัดได้ในกรณีที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคง” ซึ่งเป็นข้ออ้างครอบจักรวาลประจำของเผด็จการ และมาตรา 44 จำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคง” เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ จะจำกัดสิทธิในการชุมนุมในกรณีสงครามหรือภาวะฉุกเฉินเท่านั้น นอกจากนี้ร่างขยะใหม่นี้ลดความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เปิดช่องให้พลเมืองทวงสิทธิ ความเป็นธรรม และการบริการให้กับตนเอง เช่นในกรณีคนพิการ คนชรา หรือกรณีการบริการสาธารณสุขและการศึกษา แต่ในร่าง “มีชัย” มีการใช้ถ้อยคำที่ชวนให้มองว่าเป็นเรื่องที่รัฐต้อง “อุปถัมภ์” ให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง นอกจากนี้มีการลดความสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจากรัฐธรรมนูญปี ๔๐

 

 

 

ถ้าเรารักประชาธิปไตย ท่าทีของเราต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้มีท่าทีเดียวคือ “ไม่รับ”


ที่มา /turnleftthai.wordpress.com