"มีชัย" เน้นปัจจัย 3 ประการ ปฏิรูปประเทศ - ลั่น !! ลต.ใบเดียวทำปชช.ใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" แจงร่างรธน.ฉบับปราบโกงต่อสนช.-สปท. เน้นปัจจัย 3 ประการเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง - สิทธิเสรีภาพ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่กระจายไปอยู่ตามหมวดต่างๆในนโยบายของรัฐ - เชื่อลต.บัตรใบเดียวทำให้ประชาชนอยากออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้น ไร้ทุจริต - ปัดเพิ่มองค์กรอิสระ แต่คุณสมบัติเข้มงวดขึ้น ...

 

วันนี้ (3 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เปิดการประชุมร่วมกันระหว่างสนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อรับฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
         


นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวสรุปภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คณะกรธ.ได้มองย้อนดูกลับไปถึงปัญหาในอดีตที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งคณะกรธ.ได้มุ่งขจัดปัญหาเหล่านั้นหรือปิดช่องว่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเดิมๆให้หมดสิ้นไป สำหรับปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองไปไหนไม่ได้มีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1.การทุจริตและประพฤติมิชอบ นับวันจะมีมากขึ้นทุกวัน และทำท่าจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้บ้างในบางส่วนของสังคม 2.การย่อหย่อนในเรื่องวินัยของบุคคล ทำให้ไม่ว่าจะออกกฎหมายมาบังคับอย่างไรแต่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและการไม่ตระหนักถึงภาระที่มีต่อสังคมโดยส่วนรวมนับวันจะมากขึ้น และ 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กลไกกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นยังมีความย่อหย่อนอยู่
        

 

"ดังนั้นถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องแก้ปัญหาทั้งสามเรื่องนั้นให้ได้ คณะกรธ.จึงได้มุ่งประเด็นที่ไป 3 เรื่องดังกล่าว" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่จะหายไปจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยเราได้ตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญในอดีตได้รับรองเรื่องใดไว้บ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องเขียนให้ชัดเจน ซึ่งเราพบว่าถ้าเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิม คือ การจาระไนไปเรื่อยๆ ในแบบที่ใครนึกอะไรได้ขึ้นมาก็ใส่เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้นประชาชนถึงจะมีสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงเขียนกลับใหม่ตามหลักสากลว่าคนไทยมีสิทธิเสรีภาพทั้งปวงในทุกเรื่อง ยกเว้นเฉพาะที่จะจำกัดไว้ในกฎหมายเท่านั้น
         


"อาจมีข้อสงสัยว่าฝ่ายบริหารจะออกฎหมายมาจำกัดสิทธิได้ เราจึงเขียนเงื่อนไขไว้ว่าการออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเกินแก่เหตุ และต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นตัวประกันว่ารัฐจะไม่ออกกฎหมายอะไรก็ตามที่มาทำให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนี้ เรายังได้ระบุว่าการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวอีกว่า ในร่างรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหมวดหน้าที่ของรัฐที่เป็นการระบุว่ารัฐต้องทำอะไรให้ประชาชนบ้าง โดยถ้ารัฐไม่ดำเนินการจะถือว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ และมีโทษร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากตำแหน่ง
         


"ด้วยกลไกเหล่านี้ หลายคนเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิและเสรีภาพแล้วก็นึกว่าสิทธิและเสรีภาพหายไป ความจริงไม่ได้หาย มันไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐบางส่วน และบางส่วนก็อยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเรื่องนโยบายของรัฐเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ตามแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้มีการปรับเปลี่ยนและองคาพยพทางการเมืองของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างที่มาของสส.นั้นคณะกรธ.กำหนดให้มี 500 คน แบ่งเป็น สส.เขต 350 คน และสส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ที่ผ่านมาว่าเราพบมี 40% ของคนมาออกเสียงเป็นคะแนนที่หายไป เพราะเมื่อเลือกคนหนึ่งแล้วคนนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งก็หายไปหมด สิทธิที่ประชาชนออกมาเลยดูด้อยค่า คณะกรธ.จึงคิดว่าควรให้คะแนนทุกคะแนนเกิดประโยชน์ในการมีตัวแทนของประชาชน ซึ่งผลสำรวจของประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรธ.
         


"การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะคะแนนทุกคะแนนที่มาลงนั้นไม่ว่าจะเลือกใครก็จะมีผลในทางการเมือง ถ้าคนออกมาลงคะแนนกันมาก การทุจริตจะทำได้ยาก ซึ่งเป็นไปตามผลวิจัยของนักวิชาการทั้งหลายที่เคยทำกันมา" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี เราคิดว่าการเมืองได้พัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรรู้อนาคตของประเทศและการบริหารบ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่คิดว่าสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้งสส.
         


"มีคนพูดกันมากว่าแนวทางนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเบื้องต้นพรรคการเมืองจะต้องประชุมพรรคเพื่อสรรหาคนตามวิธีของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองสามารถกำหนดลงไปในข้อบังคับพรรคได้ว่าคนที่ถูกเสนอชื่อต้องเป็นสส.ได้ ถามว่าทำไมคณะกรธ.ไม่เขียนให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสส. คำตอบ คือ ณ วันที่เราให้เขาประกาศชื่อ การเลือกตั้งยังไม่เกิด จะไปบังคับให้ประกาศชื่อคนที่เป็นสส.ได้อย่างไร ดังนั้น เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะตัดสินใจกันเอาเอง" นายมีชัย กล่าว
         


ประธานกรธ. กล่าวว่า ที่สำคัญสภาผู้แทนราษฎรยังคงเป็นฝ่ายทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้กับกกต. และเพื่อป้องกันข้อครหาที่ว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองเล็กเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี คณะกรธ.จึงได้กำหนดว่าสภาฯจะต้องเลือกบุคคลที่เป็นนายกฯจากพรรคการเมืองที่มีสส.ในสภาฯไม่น้อยกว่า 5% หรือ 25 คน
         


ส่วนที่มาของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ นายมีชัย สรุปว่า ในอดีตเคยมีการให้สว.มาจากการเลือกตั้ง และพบว่าผู้สมัครจะต้องไปให้พรรคการเมืองช่วยในการหาเสียงจนมีความผูกพันกัน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สว.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ตาม คณะกรธ.จึงคิดว่าถ้าให้ประชาชนแบ่งกลุ่มกันสมัครและเลือกสว.กันเองภายใต้กลไกป้องกันการทุจริตที่กกต.จะไปกำหนดขึ้นน่าจะมีความเหมาะสม ส่วนองค์กรอิสระนั้นคณะกรธ.ไม่ได้เพิ่มองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระมากขึ้น จึงกำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้นเพื่อจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ ถึงขนาดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "จะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลพินิจ" เพราะอยากให้องค์กรอิสระทำงานตรงไปตรงมา
         


"มีคนพูดกันเป็นจำนวนมากว่าคณะกรธ.เพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้มากขึ้นเหมือนกับยกรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพูดโดยไม่ได้อ่านและไม่ได้เทียบเคียง ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 16 เรื่อง ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มี 18 เรื่อง ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 17 เรื่อง มีเรื่องเดียวที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก่อนๆ คือ การวินิจฉัยการประพฤติที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ โดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีก็มีอยู่เหมือนเดิม เปิดช่องหายใจให้กว้างขึ้นสำหรับในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้สามารถหาข้อยุติได้" นายมีชัย กล่าว
         


ทั้งนี้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรธ.ทั้ง 21 คนได้ระดมสติปัญญาและทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในระยะยาว แน่นอนว่าวิธีคิดของเราอาจขาดตกบกพร่อง แต่เราได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจากทุกช่องทาง ใครที่เสนออะไรและสะกิดใจจนเราคิดไม่ถึงเราก็รีบไปดูและแก้ไขให้
         


จากนั้นตัวแทนจากสนช.จำนวน 7 คน และ สปท.จำนวน 4 คน ดำเนินการซักถามคณะกรธ.ฝ่ายละ 30 นาที ก่อนให้คณะกรธ.ชี้แจงในแต่ละประเด็นต่อไป