"บิ๊กตู่" ปรับระบบจ้อสื่อมวลชน - มอบหมาย "รองนายกฯ-รมต." แจงแทน !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"พล.อ.ประยุทธ์" ปัดตอบสื่อฯ โดยโยนให้ "รองนายกฯ-รัฐมนตรี" เป็นผู้ชี้แจงแทน ซึ่งเป็นระบบใหม่ของการแถลงข่าวหลังประชุมครม. เช่นเดียวกับการประชุมครม.ก็มีการปรับระบบใหม่เช่นกัน ...

 

วันนี้ (9 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังเป็นประธานการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆด้วยสีหน้าเรียบเฉย ว่า "สวัสดีวันอังคารนะจ๊ะ การประชุม ครม.วันนี้ก็มีหลายเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ ผมเองก็มีความจำเป็นต้องไปทำงานเร่งด่วนเพื่อประเทศชาติต่อ และผมมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง และขอความกรุณาว่าให้ถามในเรื่องที่สร้างสรรค์ ในเรื่องที่จะต้องรับรู้ทั่วกัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปต่างๆ อย่าให้ทุกอย่างขัดแย้งกันตอนนี้มันจะลำบาก บ้านเมืองจะไปไม่ได้ ผมไม่เคยโกรธใครอยู่แล้ว โอเคนะครับ สวัสดีครับ"
         


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ พูดจบก็ได้เดินออกจากโพเดี้ยมการแถลงข่าวทันที โดยเมื่อผู้สื่อข่าวพยายามที่จะสอบถามในประเด็นข่าวต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจยุบพนักงานสอบสวน พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยทำสัญลักษณ์โบกมือ พร้อมกล่าวย้ำว่า "ไม่รู้ๆ"
         


จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงต่อทันทีว่า นายกรัฐมนตรีจัดเวรใหม่ในการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.โดยเมื่อนายกรัฐมนนตรีแถลงข่าวระยะหนึ่งแล้ว ก็จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแถลงหรือชี้แจง หรือให้สัมภาษณ์ โดยวันนี้ เป็นหน้าที่ของตนเวรแรก
         


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเหตุผลหรือไม่ว่าทำไมต่อจากนี้จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมาแถลงภายหลังการประชุม ครม. ?

 

นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้มีการบอกถึงเหตุผลแต่เดาได้ว่าส่วนหนึ่งเรื่องใดที่จะต้องลงในรายละเอียดและให้ได้ประโยชน์เต็มที่แก่ผู้ชม ผู้ฟังและผู้อ่าน บางเรื่องจึงจำเป็นต้องให้เจ้าของเรื่องมาพูด เพราะนายกรัฐมนตรีจะพูดได้ก็เฉพาะเรื่องกว้างๆทั่วไป เชื่อว่าเป็นความในใจของนายกรัฐมนตรีและไม่ใช่มอบแค่เฉพาะรองนายกรัฐมนตรี เท่านั้น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ รมว.คลัง เกษตรฯ ยุติธรรม ก็ต้องมาทำหน้าที่ถ้าวันหนึ่งน้ำหนัก บรรยากาศของสังคมเวลานั้นอยากฟังเรื่องอะไร
         


"ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่านายกรัฐมนตรีพยายามเพิ่มบทบาทของรองนายกฯและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมากขึ้น เช่นในคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับการประเมินข้าราชการก็เป็นครั้งแรกที่เขียนว่าให้รองนายกฯ ที่คุมเขต และกระทรวงมีโอกาสลงมาประเมินอธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งปกติควรเป็นผู้บังคับบัญชาตรง เนื่องจากรองนายกฯและ รมต.ประจำสำนักนายกฯ คุมเขตก็จะบอกละเอียดว่ารองนายกฯและรัฐมนตรีคนไหนคุมกระทรวงและจังหวัดใด เป็นสายความรับผิดชอบและเป็นผู้ประเมินให้คะแนน ส่วนผู้ว่าฯ อธิบดีจะอยู่หรือไปนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการประเมินตามสายงานปกติ อีกส่วนก็จะมาจากการประเมินของรองนายกฯที่ไปสัมผัสกับงานนั้นๆแต่อาจจะไม่มากเท่าไหร่ อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากประชาชนที่รับบริการ การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้มาแถลงหรือชี้แจงเรื่องต่างๆนั้นเป็นการเพิ่มบทบาทให้" นายวิษณุ กล่าว
         


นายวิษณุ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ในที่ประชุม ครม.ได้มีการเปลี่ยนวิธีการใหม่อีกอย่างคือ การประชุม ครม. จะเริ่มด้วยวาระการฉายวิดีโอของกระทรวงต่างๆที่ได้ไปทำงานมา จากนั้นก็เป็นวาระเพื่อทราบ ต่อด้วยวาระพิจารณา และหากเป็นการประชุม ครม.ในสมัยรัฐบาลอื่นก็จบแล้วปิดประชุมกลับบ้าน แต่ ครม.ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้ใช้ธรรมเนียมใหม่สมัยที่เป็นทหาร โดยเมื่อจบจากวาระการพิจารณาแล้วก็จะต้อด้วยวาระข้อสั่งการ คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเตรียมมาและต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปตามในเรื่องอะไร เมื่อจบวาระข้อสังการแล้วซึ่งบางครั้งมีมากว่าวาระในแฟ้ม ครม.และเป็นเรื่องใหญ่เป็นมติ ครม.เกือบทั้งสิ้น หลังจากปีใหม่เป็นต้นมาหลังวาระข้อสังการแล้ว ก็มีการเพิ่มอีกวาระหนึ่งคือมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนรายงานความคืบหน้างานในหน้าที่ของตัวเองให้ทราบ ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญนายกรัฐมนตรีก็จะสั่งเป็นมติ ครม. ซึ่งวาระท้ายๆส่วนใหญ่จะไม่มีเอกสารหลักฐานผู้สื่อข่าวจะไม่มีวันรู้ว่าใครพูดอะไร อย่างไร ยกเว้นเมื่อมีการสั่งการให้เป็นมติ ครม.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมวันนี้ก็ได้มีแจกแผนความเชื่อมโยงม่น้ำ 5 สาย ซึ่งเป็นการดำเนินการจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2560 ด้วย