ข้อกล่าวหาในคดีสลายพันธมิตรฯ ต้องพิสูจน์กันที่ชั้นศาล!!

ตกเป็นกระแสมาได้ระยะหนึ่งแล้ว กับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติ 6 : 1 เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาการยืนคำร้องถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพ

ตกเป็นกระแสมาได้ระยะหนึ่งแล้ว กับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติ 6 : 1 เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาการยืนคำร้องถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

 

โดยต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าวออกมา สืบเนื่องจากจำเลย 3 ใน 4 คน ของคดีนี้ ยื่นขอความเป็นธรรมไปยัง ป.ป.ช. โดยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่ จึงขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาถอนฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

ทั้งนี้ ในส่วนของจำเลยคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม พธม. ในปี 51 ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวม 4 คน คือ

1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร.

4.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

 

โดยในครั้งเริ่มแรก ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม ไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ชุมนุม ถือว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ การสลายการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความเสียหายจึงต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการกระทำ

 

พร้อมกันนั้น ป.ป.ช. ยังได้แจกแจงข้อกล่าวหาของจำเลยทั้ง 4 ดังต่อไปนี้

 

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติราชการของข้าราชการได้ เมื่อปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสในการเข้าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.2551 แทนที่จะมีคำสั่งห้าม หรือหยุดยั้งกลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นตามลำดับตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อีกทั้งมีคำยืนยันจาก พล.ต.อ.พัชรวาท ระบุว่า นายสมชาย และ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้ออกคำสั่งให้เปิดทางการชุมนุม เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมที่รัฐสภา นอกจากนี้เมื่อ พล.อ.ชวลิต ลาออกก็ถือว่า อำนาจการบังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นของนายกรัฐมนตรี โดยสมบูรณ์

 

ป.ป.ช.จึงมีมติ 8-1 ว่า การกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายสมชาย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

2. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากการไต่สวนพบว่า พล.อ.ชวลิต ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้เป็นผู้สั่งการในการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมรัฐสภา สอดคล้องกับที่มีเทปบันทึกเสียงของ พล.อ.ชวลิต เมื่อครั้งที่สั่งการ แม้ต่อมา พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบหลังเกิดความเสียหาย แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า เป็นการหนีความรับผิดชอบ ย่อมไม่อาจพ้นความรับผิดได้

 

ป.ป.ช.จึงมีมติ 6-3 ให้ พล.อ.ชวลิต มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

3. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ซึ่งรับนโยบายจากฝ่ายการเมืองให้ไปดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม แต่กลับเพิกเฉย ไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ หรือ ยอมกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง การที่ พล.ต.อ.พัชรวาท อ้างว่าไม่สามารถขัดขืนคำสั่งได้นั้น เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตประชาชนเป็นหลัก แม้จะพยายามให้เปลี่ยนสถานที่ประชุม หรือเลื่อนวันประชุม เพื่อเลี่ยงเหตุเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่สามารถหักล้างผลการกระทำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาที่ได้กระทำไป

 

ป.ป.ช. จึงมีมติ 8-1 ให้พล.ต.อ.พัชรวาท มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79(5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

4. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต จึงต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การเข้าดำเนินการผลักดันผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด โดยเมื่อทราบเหตุในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 ว่ามีการใช้แก๊สน้ำตายิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จนบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก พล.ต.ท.สุชาติ ก็ยังสั่งให้มีการใช้กำลังผลักดันกลุ่มประชาชน โดยไม่ทบทวน หรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว แต่กลับกระทำซ้ำอีก

 

ป.ป.ช. จึงมีมติ 8-1 ให้ พล.ต.ท.สุชาติ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

คดีความดังกล่าวได้ดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งองค์คณะศาลฎีกา ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 58

 

และในนี้เอง ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างกลุ่ม พธม. หยิบยกขึ้นมา คัดค้านและขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนการถอนฟ้องคดี โดยเห็นว่าผู้มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ควรเป็นศาลฎีกา จะเหมาะสมมากกว่าหรือไม่

 

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความกลุ่ม พธม. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ อดีตโฆษกกลุ่มพธม. พร้อมด้วยญาติผู้สูญเสีย และมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพธม. ปี 51 โดยอ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 86 ที่ระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิจารณา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น ส่วนที่ระบุว่าได้พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้น หากผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานใหม่ตามที่อ้างก็ควรให้ไปยื่นหลักฐานนั้นต่อศาลจะเหมาะสมกว่า

 

ขณะเดียวกัน นายนิติธร ตั้งข้อสังเกตว่าประธาน ป.ป.ช. จะถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีนี้หรือไม่ เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็น 1 ในจำเลยคดีดังกล่าว

 

แต่ที่ทำให้สถานการณ์ระอุขึ้นมาทันทีทันควัน คือการประกาศกร้าวของนายปานเทพ ว่าหาก ป.ป.ช.ยังดึงดันจะทำเรื่องนี้ต่อไป  กลุ่มพธม. ที่เคยประกาศยุติบทบาทไปเมื่อ ปี 2556 อาจจำเป็นต้องกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความถูกต้อง

 

“อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ได้หารือเรื่องกันมาตลอด หากจำเป็นอดีตแกนนำที่เคยยุติบทบาทไปแล้วอาจต้องทบทวนบทบาทใหม่ ถ้า ป.ป.ช. ชุดนี้มาฟอกความผิดให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ผมจำได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าดีแล้วที่อดีตแกนนำพันธมิตรฯประกาศยุติบทบาท ท่านอย่าได้ทำเรื่องนี้หรือบีบบังคับให้อดีตแกนนำพันธมิตรฯต้องกลับมารวมตัวกันเพื่อดำเนินการกับรัฐบาลชุดนี้” นายปานเทพ กล่าว