โชคดีไม่รั่วไหล!! แต่ถ้ารู้ฤทธิ์ซีเซียม (พหลฯ 24) มีหวังช็อก??

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.tnews.co.th

แตกตื่นกันไปทั้งเมือง หลังที่มีรายงานว่า เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล ภายในซอยพหลโยธิน 24 แยก 2-1 เขตจตุจักร ซึ่งในเบื้องต้น คาดการณ์กันว่า เป็นสารกัมมันตรังสี โคบอลต์ 60 ซึ่งเป็นสารอันตราย ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ปรมาณูเพื่อสันติ ต้องเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ก่อนยืนยันว่า ที่เจอนั้นไม่ใช่สารโกบอลต์ 60 แต่เป็นสารซีเซียม 137 ที่ใช้ในอุตสาหกรรมถ่ายภาพ และไม่พบการรั่วไหลแต่อย่างใด

 

 

แม้ผลการตรวจสอบจะทำให้โล่งอกโลงใจ แต่ที่ต้องรู้เอาไว้คือ สารซีเซียม ก็อันตรายไม่น้อยเช่นกัน...

 

ข้อมูลจาก ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร อธิบายว่า Cesium-137 (ซีเซียม-137, Cs-37) คือ ไอโซโทปของซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสี ที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส พบในฝุ่นกัมมันตรังสีที่ตกค้างจากการทดลองลูกระเบิดอะตอม และจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ใช้เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณนิวไคลด์กัมมันตรังสี ในอาหารที่ผ่านการฉายรังสี หรือการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีที่เกิดการปนเปื้อนในอาหารจากสิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนา

 

 

การปนเปื้อนของซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อม เกิดจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ มีโอกาสได้โดยตกค้างในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำพืช สัตว์ จะแพร่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ได้ทางห่วงโซ่อาหาร ด้วยการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน

 

 

ทั้งนี้ องค์การอาหารและยา กำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิด คือ ไอโอดีน-131 (Iodine-131) ซีเซียม-137 (Cesium-137) และซีเซียม-134 (Cesium-134) โดยหน่วยวัดปริมาสารกัมมันตรังสีในเครื่องดื่มหรือของเหลวจะใช้หน่วย "เบคเคอเรลต่อลิตร" ส่วนอาหารหรือของแข็งจะมีหน่วยเป็น "เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม"

 

 

ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดคือ อาหาร ต้องมี Iodine-131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

 

 

ซีเซียม-137 เป็นอันตรายทางอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เมื่อได้รับเข้าไปในร่างกาย จะกระจายไปทั่วร่าง ส่วนใหญ่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ และส่วนน้อยอยู่ในตับ ไขกระดูก แต่จะถูกขับออกโดยกระบวนการทางชีวภาพ หรือทางเหงื่อ และปัสสาวะ

 

 

นอกจากนี้ ซีเซียม-137 ยังเป็นสารก่อมะเร็ง แต่โอกาสที่จะเป็นมะเร็งคือต้องกินสารปนเปื้อน เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกัน แต่พิษของ Cesium-137 ให้ผลรุนแรงน้อยกว่าไอโอดีน-131 (Iodine-131)

 

 

การรั่วไหลของสารรังสีซีเซียม-137 นั้น เคยเกิดขึ้นที่ จ.ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 โดยรั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 3 เครื่อง ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิ เมื่อ 11 มีนาคม ซึ่งรังสีซีเซียมที่รั่วไหลออกมา มีปริมาณประมาณ 15,000 เทราเบกเคอเรล ซึ่งหลังจากนั้นก็มีรายงานตามมาอย่างต่อเนื่องว่า พบการปนเปื้อนในอาหารหลายชนิด