ช็อตต่อช็อต!! "ชาญชัย" โต้ AIS  รวบสัมปทาน   25 ปี    TOT ได้ไม่คุ้มเสีย ??

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม www.tnew.co.th

     คงต้องตามเรื่องนี้กันยาว ๆ  เพราะกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบมจ.ทีโอที กับ บมจ.เอไอเอส เป็นปมเงื่อนงำที่มีความถอดรหัสมาในหลายยุคสมัย แต่ยังไม่เคลียร์คัทในทุกประเด็น เพราะคนที่รักษาผลประโยชน์ชาติอย่าง ผู้บริหารบมจ.ทีโอทีถูกครอบงำโดยภาคการเมืองอย่างชัดเจนแทบทุกยุคสมัย  นับตั้งแต่เจ้าของเครือชินคอร์ปอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จการบริหารประเทศผ่านพรรคการเมืองในสังกัด  !!!    

 

     ล่าสุดกับการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า   กรณีการเจรจาเป็นพันธมิตรระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.เอไอเอส   มีเงื่อนงำบ่งชี้ให้เห็นความไม่ปกติในหลายประเด็นเข้าข่ายผิดกฎหมายของ  นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริต ในสังกัดคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และต่อมา บมจ.เอไอเอสก็ทำหนังสือตอบโต้ในทันทีว่าดีลธุรกรรมทั้งหมดถูกต้องชอบธรรม

 

     แต่ในทางกลับกัน นายชาญชัย  ก็เปิดชุดข้อมูลใหม่เพื่อเน้นย้ำให้เห็นสมมุติฐานที่เชื่อได้ว่าอาจมีความฉ้อฉลในการกระทำสัญญาระหว่างบมจ.ทีโอทีและบมจ.เอไอเอส ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ยุคสัมปทานคลื่น 900 MHz  จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ บมจ.เอไอเอสยังมีบทบาทสำคัญในเชิงธุรกิจเหนือ บมจ.ทีโอที  ที่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจโทรคมนามคมแห่งชาติ ???

 

     นายชาญชัย  เปิดข้อมูลโดยย้อนถึงคำชี้แจงของบมจ.เอไอเอส ใน 3  ประเด็นสำคัญพร้อมข้อหักล้างในเชิงประจักษ์พยานหลักฐานในช่วงเริ่มต้นการสัมปทานคลื่น 900 MHz     ดังนี้   

 

ช็อตต่อช็อต!! "ชาญชัย" โต้ AIS  รวบสัมปทาน   25 ปี    TOT ได้ไม่คุ้มเสีย ??

 

     (ข้อมูลเอไอเอส)  1.กรณีที่เอไอเอส แก้ไขสัญญาสัมปทานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเงิน 88,359 ล้านบาทนั้น เอไอเอสขอยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดประโยชน์กับรัฐ และรัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชาชนหรือผู้ใช้บริการได้ใช้บริการในราคาถูกลง

 

     อีกทั้งการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกรายดำเนินการเหมือนกันหมด และเป็นการดำเนินการโดยสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งเอไอเอสไม่ได้กระทำเองฝ่ายเดียว และในส่วนของทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคณะกรรมการของทีโอที ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด สภาพัฒน์ ซึ่งได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐและประชาชน จึงอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาระหว่างกันได้
 

 

     ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาดังกล่าว ประชาชนยังได้ใช้บริการในราคาถูกลง เช่น กรณีการกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน หรือพรีเพด โดยมีเงื่อนไขให้ต้องมีการลดอัตราค่าใช้บริการลง ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าใช้บริการถูกลง ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน และสามารถเลือกใช้บริการได้ตามความพอใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อค่าบริการถูกลง จึงส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทีโอที ได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้ใช้บริการเช่นเดียวกัน และสัญญาหลักตลอดจนการแก้ไขสัญญาต่างๆ ก็มีผลบังคับใช้และผูกพันคู่สัญญาเรื่อยมาโดยตลอดจนกระทั่งสิ้นสุดสัญญาไปแล้วเมื่อ ก.ย.2558

 

     (ข้อโต้แย้ง กมธ.ปราบปรามทุจริตฯ)  :    1. การแก้ไขสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะจากเอกสารบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ 291/2550 ลงนามโดยคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอนุญาต ระหว่าง ทศท.หรือ (บมจ.ทีโอที ปัจจุบัน)กับ บมจ.เอไอเอส ตามกรณีหารือ ดำเนินการไม่ถูกต้อง ตามพ.ร.บ.ให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯฉบับปี พ.ศ.2553 เพราะไม่ได้เสนอเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาให้คณะกรรมการประสานงาน มาตรา 22 พิจารณา และเสนอให้ ครม. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐถึง5 ครั้ง รวมมูลค่า 88,359 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่ เอไอเอส ได้ประโยชน์หรือไม่

 

     นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ส่วนที่อ้างว่า การแก้ไขสัญญานี้ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ใช้งานในราคาที่ถูกลงนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาของ บมจ.เอไอเอส กับ ทศท.(บมจ.ทีโอที) ไว้เมื่อวันที่ 26ก.พ. 2553 ว่า การแก้ไขสัญญาโดยทำเป็นบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาในกรณีนี้ ไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับปี 2535 เพื่อขอความเห็นชอบก่อน จึงวินิจฉัยว่า การอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นการชอบหรือไม่ หรือเพื่อประโยชน์แก่ เอไอเอส

 

     ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสัญญาในสาระสำคัญ ทำให้ ทศท. (บมจ.ทีโอที) ต้องขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญาหลัก แต่กลายเป็น เอไอเอส ได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น นับจากวันที่ 1มิ.ย.2544 ไปถึงสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.ย. 2558 เป็นเวลาเกินกว่า14 ปี ที่ทำให้ ทศท. (ทีโอที)เสียประโยชน์ของรัฐที่ควรจะได้
 

     สำหรับมูลค่าความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมของ เอไอเอสกับทีโอทีนั้น ตามเอกสาร หลักฐานที่ อนุฯกมธ.ตรวจสอบพบคือ การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 มูลค่าความเสียหาย100 ล้านบาท ครั้งที่4 เสียหาย 7,019 ล้านบาท ครั้งที่ 5 เสียหาย 429 ล้านบาท ครั้งที่ 6 เสียหายถึง 70,819 และครั้งที่ 7 เสียหาย 9,992 ล้านบาท รวมมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 88,359 ล้านบาท

     (ข้อมูลเอไอเอส)2. กรณีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยมีมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ผู้รับสัมปทานทุกรายต้องชำระภาษีสรรพสามิต ซึ่งในกรณีของเอไอเอส เป็นเงินจำนวน 31,462 ล้านบาทนั้น ขอยืนยันว่ารัฐไม่ได้รับความเสียหายใดๆ และรัฐยังคงได้ประโยชน์สูงสุดเช่นเดิมจากรายได้สัญญาสัมปทาน   รวมถึงเอไอเอสไม่ได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษใดๆ จากการดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากบริการโทรคมนาคมเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงแต่แบ่งเงินที่ได้รับออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นภาษีสรรพสามิตที่จะต้องชำระให้แก่กระทรวงการคลังโดยตรงเป็นรายเดือน ทำให้รัฐได้รับเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกส่วนชำระให้แก่ผู้ให้สัมปทานนำไปใช้จ่ายในกิจการของตนเอง

ช็อตต่อช็อต!! "ชาญชัย" โต้ AIS  รวบสัมปทาน   25 ปี    TOT ได้ไม่คุ้มเสีย ??

     (ข้อโตแย้งกมธ.ปราบปรามทุจริตฯ)2. ส่วนที่อ้างว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม เอไอเอส ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดนั้น ถามว่าในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ออกพ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯวินิจฉัยแล้วว่า นายทักษิณใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตรา พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ และออกประกาศกระทรวงการคลัง รวมทั้งมติ ครม.ให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ขณะนั้น  หรือ(เอไอเอส)  จนเป็นเหตุให้รัฐขาดรายได้ตามสัญญาหลักเป็นเงินอีก 36,861ล้านบาท รวมเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาและ แก้ไขกฎหมายสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหายรวม 125,220 ล้านบาท ซึ่งเอไอเอสได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว

 

ช็อตต่อช็อต!! "ชาญชัย" โต้ AIS  รวบสัมปทาน   25 ปี    TOT ได้ไม่คุ้มเสีย ??

 

     (ข้อมูลเอไอเอส)  : 3.กรณีสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์หมดสัญญาลงทาง เอไอเอสต้องส่งมอบเสาสัญญาณคลื่น เครื่องมือ อุปกรณ์ทั้งระบบทั่วประเทศ และจัดหาสถานที่ตามสัญญาข้อที่ 2  และต้องเช่าต่ออีก 2 ปีหลังหมดสัญญา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องคืนให้กับรัฐประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่เอไอเอสยังไม่คืนรัฐนั้น ขอชี้แจงว่า ในตอนนี้เอไอเอสและทีโอทีได้มีการหารือที่จะยุติข้อพิพาทโดยการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้

 

     (ข้อโต้แย้ง กมธ.ปราบปรามทุจริตฯ)  :  3.ส่วนที่ บมจ.เอไอเอส ระบุว่าอยู่ระหว่างการเจรจาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บมจ.ทีโอที และรอส่งมอบเสาสัญญาณคลื่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมด 1.6หมื่นแห่งทั่วประเทศให้ ทีโอทีนั้น  ไม่ตรงกับหลักฐานที่มี เพราะอนุฯกมธ. มีหลักฐานประทับตรา "ลับ"  ของ บมจ.เอไอเอส ลงวันที่ 7 ส.ค. 2556 ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที  โดยมีสาระสำคัญระบุว่า เอกสารลับนี้ขอยกเลิกหนังสือส่งมอบทรัพย์สินในส่วนของเสาติดตั้งสายอากาศคืนแก่ ทีโอที ทั้งที่ในสัญญาหลักข้อ 2,3,4 ระบุชัดเจนว่า อุปกรณ์ทั้งหมด เสา ฐานและสัญญาการเช่าที่ดินต้องส่งมอบให้ ทีโอที ณ วันที่ก่อสร้างเสร็จสิ้น โดยทรัพย์สินทั้งหมดต้องเป็นของรัฐ ในวันที่สิ้นสุดสัญญาคือวันที่ 28 ก.ย.2558 โดยไม่มีเงื่อนไข

 

      ขณะเดียวกันการที่ เอไอเอส อ้างถึงตั้งเงื่อนไขขอเจรจาใหม่ว่า ต้องให้ เอไอเอส มีหุ้นส่วน หรือผลประโยชน์ในอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยแล้วจะส่งมอบคืนทรัพย์สินให้   จึงเท่ากับว่ากรณีนี้มีข้อยืนยันถึงผลการกระทำร่วมระหว่างผู้บริหารบมจ.ทีโอทีกับบมจ.เอไอเอส  อันเป็นเหตุให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้บริหารทีโอที ไปแล้ว และกรณีที่ เอไอเอส อ้างว่า การแก้ไขสัญญาเป็นไปโดยสมัครใจของทั้งสองฝ่ายนั้น  จึงยิ่งถือเป็นการร่วมทำผิดกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ   แต่จนถึงวันนี้กลับยังไม่ปรากฎว่าจะมีหน่วยงานใดของรัฐจะบังคับใช้กฎหมายโดยเรียกคืนทรัพย์สินกลับมาเป็นของรัฐ