"ศูนย์ปราบโกงประชามติ" !! ยุทธวิธีปลุกแดงคว่ำรธน.สู่เป้าหมายกดดันลต.ปี 59 ??

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

     ถือเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่เลือกแล้ว สำหรับเครือข่ายระบอบทักษิณกับการเดินหน้าสู่เป้าหมายกระบวนการล้มอำนาจคสช.ให้เสร็จสิ้นก่อนจะลากยาวไปถึงปี  2560    โดยเฉพาะการจัดตั้ง "ศูนย์ปราบโกงประชามติ"  ซึ่ง   จตุพร พรหมพันธุ์    ประธานนปช.อ้างว่าไม่มีเป้าหมายล้มคสช.   แต่โดยสาระสำคัญจากถ้อยคำและวิธีการก็ชัดเจนว่า    "ศูนย์ปราบโกงประชามติ"    คือการปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกันอีกครั้ง โดยมีผู้ใกล้ชิด ทักษิณ ชินวัตร อย่าง ยงยุทธ ติยะไพรัช มาร่วมเป็นสักขีพยาน  !!!

 

     “การตั้งศูนย์ปราบโกงครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อล้ม คสช. เมื่อไหร่ที่ นปช.ต้องการล้ม คสช.จะแจ้งให้ทราบก่อนอย่างแน่นอน การลงประชามติครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของสีใด สีหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ ภารกิจแรกของศูนย์ปราบโกงคือภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ จะมีการนัดหมายเพื่อเปิดศูนย์ทั่วประเทศ”

 

     ขณะที่ภายใต้การแนวทางการฟื้นนปช.ระดับจังหวัดให้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง  ก็คือสูตรการเคลื่อนไหวที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ  และเครือข่ายแดง เคยดำเนินการในรูปโรงเรียนนปช.ตั้งแต่ปี  2552 และทำให้มวลชนคนเสื้อแดงมีฐานมวลชนในระดับสำคัญ  สำหรับการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชีวะ   อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี  2553  หลังจากล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงกับเหตุการณ์ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี 2552   พร้อม ๆ กับการก่อเกิดของกองกำลังติดอาวุธ ในเหตุการณ์สี่แยกคอกวัว 10 เม.ย. 2553

     และแม้ว่า จตุพร พรหมพันธุ์ จะปฏิเสธว่า "ศูนย์ปราบโกงประชามติ"   ไม่มีเป้าหมายล้มคสช. แต่โดยนัยยะของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีจุดเป้าหมายชัดเจนของการนำไปสู่การเอาชนะทางการเมืองกับคสช.โดยใช้ผลการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรธน.เป็นเดิมพัน

 

     “การลงประชามติครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของประชาชน  ไม่ใช่เรื่องของสีใด สีหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง  แต่ เป็นเรื่องของฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ..”

 

     เช่นเดียวกับ วีระกานต์ มุสิกพงศ์  ที่ระบุชัดเจนว่า   “ขอให้ไปประชาชนใช้สิทธิให้มาก ถ้าใครพอใจกับความสุขในปัจจุบันขอให้ลงมติรับรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าท่านมีความอึดอัด คับข้องใจ เดือดร้อน และไม่มีใครแก้ปัญหาให้ท่านได้ก็ขอให้ไม่รับรัฐธรรมนูญ ”

 

     ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ เป้าหมายของการรณรงค์คว่ำรธน.โดยฟื้นพลังเครือข่ายคนเสื้อแดงทั่วประเทศกลับคืนมานี้  ทางเครือข่ายระบอบทักษิณมีนัยสำคัญอะไรมากกว่าการแสดงเห็นพลังการต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

     ถ้าย้อนกลับไปดูแนวคิดของต้นแบบอย่าง ทักษิณ ชินวัตร   ในการพูดผ่านยูทูบเมื่อวันที่  14 ส.ค.  2558   ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “  บ้านเมืองตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา ทั้งที่ความจริงบ้านเมืองเราพัฒนาไปเยอะแล้ว แต่สิบกว่าปีมานี้ถือว่าถอยหลัง เพราะผู้มีอำนาจกำลังนำประเทศไทยกลับเข้าสู่อดีต ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาถือว่าเลวร้ายที่สุดแล้วกัน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จึงอยากบอกให้พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ยึดมั่นในหลักการ อะไรที่ไม่เข้าตามหลักการนี้ ไม่เอา !!! ”

     อีกหนึ่งตัวละครที่ทำให้ภาพเป้าหมายการคว่ำร่างรธน.ชัดเจนยิ่งขึ้นในวัตถุประสงค์การณรงค์เคลื่อนไหว ก็คือ ณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ  โดยการพูดไว้เมื่อวันที่  27 ม.ค. 2559   “นัยของการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกินความกว้างไปถึงการไม่ยอมรับกระบวนการอำนาจของ คสช. ดังนั้น 1 ปีจากประชามติ กรกฎาคม 59 ถึงเลือกตั้งกรกฎาคม 60 จึงมากด้วยแรงเสียดทานระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน  สิ่งที่ควรจะเป็นคือ เร่งคืนอำนาจให้ประชาชน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 40 ให้มีการเลือกตั้งภายในปี 59 โดยมีบทเฉพาะกาลให้รัฐสภาของประชาชนจัดการเลือกตั้ง สสร. แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญพร้อมลงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แบบนี้ถึงจะเดินไปข้างหน้าได้”

 

     ถัดมาในวันที่ 30 มี.ค. 2559 พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับ  แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  โดยอ้างว่าเป็นร่างฯ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหลายส่วน และยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่าง, เนื้อหาเป็นไปตามความต้องการของ คสช. เป็นหลักมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

     ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงขอเสนอแนะต่อประชาชน ให้ร่วมกันออกมาลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติ โดยให้แก้ไขอย่างชัดเจนว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว”

 

     พร้อมกับ “จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน” เพื่อให้การบริหารประเทศไม่สะดุด และให้รัฐบาลจัดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการได้มา !!

 

     ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดก็เพียงพอชี้ให้เห็นแล้วว่าการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของนปช. ไม่ได้เป็นการเปิดมาเพียงเพื่อคุมสถานการณ์การลงประชามติไม่ให้มีอำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซงเท่านั้น แต่ศูนย์ปราบโกงประชามติเป็นบันไดขั้นที่สองของการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจคสช.ต่อเนื่องภายหลังวันลงประชามติ 7 ส.ค. 2559   โดยเฉพาะกรณีหากผลคะแนนเสียงไม่รับร่างรธน.เป็นไปตามที่เครือข่ายทักษิณคาดหวัง  การผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วภายในปี 2559  จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น ??