ยาวไปๆ !!  ตั้งเลขาฯ สปสช.สะดุด แพทย์ชนบทยื่นตีความปมคุณสมบัติใหม่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.tnews.co.th

เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ดูเหมือนจะมีปัญหามาโดยตลอด สำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ล่าสุด กับประเด็นร้อนในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่

 

 

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนแพทย์ชนบท และนายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย 17 เครือข่าย (Healthy forum) ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้ตีความคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช. ด้วยความรอบคอบ และถูกต้องตามเจตนารมณ์ โดยไม่บิดเบือนข้อกฎหมาย เนื่องจากในปัจจุบันคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 10 ได้ตีความอย่างกว้าง โดยเปิดช่องให้ผู้บริหารระดับสูงของ สธ.สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดสรรได้ อันจะส่งผลเสียต่อระบบสมดุลของระบบสุขภาพที่พัฒนามายาวนาน 14 ปี

 

 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพปี 2545 กำหนดไว้ว่า ผู้จะมาเป็นเลขาธิการ สปสช.ต้องไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เป็นคู่สัญญาผู้เข้าร่วมงานหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับ สปสช.ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายป้องกันให้บุคคล ซึ่งมีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ สปสช.ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐเอกชน มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ใดๆ อันมิชอบ

ที่มาที่ไปของปมขัดแย้งดังกล่าว ต้องเท้าความกลับไปตั้งแต่ เมื่อครั้งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 19/2558 ออกมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยโยกย้ายข้าราชการบางตำแหน่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในนั้น ก็คือ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.

 

 

โดยต่อมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. ได้แต่งตั้ง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ขึ้นรักษาการเลขาธิการ สปสช. แทน พร้อมทั้งได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ต่อจาก นพ.วินัย ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 ซึ่งก็พบว่ามีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งหมด 8 ราย ประกอบด้วย

 

 

1.นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.

2.นางสาวสวนีย์ อ่อนสุวรรณ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

3.นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี

4.นพ.ปภัสสร เจียมบุญศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

5.ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

6.รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

7.นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

8.ผศ.นพ.ชูศักดิ์ โอกาศเจริญ ประธานหลักสูตรมหาบัณฑิตระบาดวิทยาทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

อย่างไรก็ดี จากรายชื่อผู้สมัครทั้ง 8 ราย คณะกรรมการสรรหา ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นประธาน ได้พิจารณาคุณสมบัติ และคัดเลือกแคนดิเดต ออกมา 2 คน คือ นพ.ประทีป และ นพ.วันชัย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม บอร์ด สปสช.

 

 

และนี่เองคือสาเหตุการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบท ที่มองว่าคุณสมบัติของ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ขัดกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพปี 2545 เนื่องจากตำแหน่งปัจจุบันของนพ.วันชัย คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรคู่สัญญาของ สปสช. นั่นเอง

ส่วนสถานการณ์ล่าสุด บอร์ด สปสช. ได้ประกาศเลื่อนการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ออกไปเป็นวันที่ 4 กรกฎาคม จากกำหนดเดิมที่จะมีการประชุมคัดเลือกกันในวันนี้ (6 มิ.ย.) โดยให้เหตุผลว่า กฤษฎีกายังตีความคุณสมบัติของ นพ.วันชัย ไม่แล้วเสร็จ…

 

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ สปสช. เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยบางช่วงบางตอน ระบุว่า คสช. ยังไม่มีความเข้าใจกลไกการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นับเป็นเครื่องมือปฏิรูป แต่กลับไปฟังเสียงของบุคคลบางคนเพื่อทำลายองค์กรเหล่านี้

         

“เมื่อพิสูจน์แล้วว่าข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่นไม่เป็นความจริง ตรงนี้ก็ทำให้รัฐบาลเสียแนวร่วมไป เพราะทั้ง สปสช.และ สสส.ต่างก็มีแนวร่วมจากประชาชนทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพยายามบังคับหน่วยงานต่างๆ ว่าควรทำงานอย่างไร ทั้งๆ ที่ตัวเองเพิ่งเข้ามา ถามว่าจะรู้เท่าคนที่ทำมานานได้อย่างไร” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

         

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ประเวศ ยังได้เสนอแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ เอาไว้จำนวน 5 ข้อ ได้แก่

 

1.ควรปฏิรูปแนวคิดสุขภาพเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าสุขภาพที่สมบูรณ์จะต้องมีทั้งทางกาย จิตใจ และทางปัญญา

 

2.ระบบสุขภาพไม่ควรทำแต่ตั้งรับ แต่ต้องทำเชิงรุกมากขึ้น

 

3.ควรปฏิรูประบบการเงินการคลังเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดี

 

4.ควรทำให้ประชาชนทุกพื้นที่มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เพื่อจะได้นำไปใช้ในครอบครัว สังคม ชุมชน ซึ่งจะแก้ความแออัดในโรงพยาบาล

 

และ 5.ควรปฏิรูปกลไกรับรองคุณภาพโรงพยาบาล