เป็นเยี่ยงอย่าง!!! ผู้ว่าโตเกียวลาออกเพราะครหาทุจริตขณะสตง.รุกหนักบิ๊กกทม.ปม16.5ล.??

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

     สำนักข่าวเกียวโด รายงานในวันนี้ ( 15 มิ.ย.)  ว่า นายโยอิชิ มาซูโซเอะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว วัย 67 ปีได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งแล้ว  ภายหลังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงข้อกล่าวหาว่ามีการนำสินทรัพย์ราชการไปใช้ส่วนตัว  เช่น  นำรถทางการไปใช้ท่องเที่ยวในวันหยุด และใช้เงินหลวงซื้อของฟุ่มเฟือยให้คนในครอบครัว แม้ว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะไม่มีการชี้ชัดความผิดทางกฎหมายแห่งราชอาณาจักรญี่ปุ่น

 

     ก่อนหน้านี้กลุ่มสมาชิกสมัชชากรุงโตเกียว   ได้รวมตัวกดดันให้นายมาซูโซเอะออกจากตำแหน่ง  เนื่องจากคำชี้แจงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณยังขาดน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ แต่คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบกลับมีข้อเสนอเปิดทางให้นายมาซูโซเอะยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวต่อไปอย่างน้อยจนกว่างานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองรีโอ เดอ จาเนโร จะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค. โดยอ้างว่าอาจจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อการจัดงานโอลิมปิกปี 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงโตเกียว

 

     ทั้งนี้นายมาซูโซเอะ  ชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวในปี  2014  ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ  และถูกกดดันให้ลาออกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเขาปฏิเสธหลายครั้งที่จะอธิบายการใช้เงินภาษีอย่างฟุ่มเฟือย  รวมถึงการซื้อหนังสือการ์ตูนให้ลูกๆ ของเขา

     ด้านความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบโครงการจ้างปรับปรุงห้องทำงานผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ของ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร วงเงินงบประมาณ 16,500,000 บาท     นายพิศิษฐ์  ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ยืนยันว่า ห้องทำงานของ  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการดำเนินการปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะมีการประกาศราคากลาง ซึ่งตามระเบียบของ สตง.  ต้องมีการประกาศราคากลางก่อนปรับปรุง  จึงต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไปว่าเข้าข่ายพฤติกรรมที่ไม่สุจริตอาจนำไปสู่การฮั้วงานในลักษณะให้ทำงานไปก่อนแล้วมาประมูลทีหลัง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่

 

     ขณะที่ข้อมูลของ  สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org  จากการสัมภาษณ์พิเศษ   นายพิศิษฐ์  ระบุว่า   เบื้องต้นคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร   อ้างว่าการปรับปรุงห้องทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกิดขึ้น  ในช่วงที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหยุดปฏิบัติหน้าที่  และเมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ก็พบห้องทำงานในลักษณะดังกล่าวแล้ว 

 

     นายพิศิษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า การให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำงานล่วงหน้า และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ค่อยมาตั้งงบประมาณ ทำกระบวนการว่าจ้างเอกชนย้อนหลัง ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมในกระบวนการใช้จ่ายเงินงบประมาณของราชการเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีแบบนี้ สตง.เคยตรวจสอบพบในหน่วยงานต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่คิดว่าจะมีการตรวจพบการดำเนินการลักษณะนี้ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอันดับต้นของกทม.

     "กรณีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก ยังดีที่ตรวจสอบพบก่อน และยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายเงินไป ถ้าเบิกจ่ายไปแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องชี้แจงข้อมูลหนักกว่านี้แน่  ส่วนงบประมาณจำนวน 16 ล้านบาท ที่ตั้งไว้แล้ว ซึ่งมีขั้นตอนที่มาไม่ถูกต้อง ก็คงจะถูกตีตกไปตามระเบียบ"

 

     ผู้ว่าฯ สตง. ยังกล่าวต่อไปว่า ภายในเดือนมิ.ย.2559 นี้ สตง.จะเร่งสรุปข้อมูลการตรวจสอบโครงการฯนี้  ให้ได้ผลออกมาเป็นทางการ และจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำด้วย ทั้งในส่วนผู้ออกแบบ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และ เจ้าของห้อง ที่ได้รับการปรับปรุง ร่วมถึงการหาตัวผู้รับเหมาที่เข้ามารับทำงานให้ก่อนล่วงหน้าด้วย ว่าเป็นใครมาจากไหน และความเชื่อมโยงอะไรกับคนในกทม.หรือไม่ ทำไมถึงใจดีเข้ามาทำงานให้ก่อน

 

     "ในประเด็นที่ผู้บริหารระดับสูงของกทม. อ้างว่าไม่เคยทราบเรื่องการปรับปรุงห้องทำงานนั้น อันนี้น่าคิดว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่  มีคนเข้ามาปรับปรุงห้องทำงาน เขาจะไม่ทราบเลยหรือว่าห้องทำงานมีการปรับปรุงใหม่ ใครเป็นคนทำ และ ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ท่านก็จะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ทำไมยังห่วงเรื่องห้องทำงานอีก ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ เขาเข้ามาพิจารณาเอง เพราะเงินจำนวน 16 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่เยอะนะ ผู้ว่าฯ คนใหม่ เขาอาจจะเอาเงินไปทำงานที่มาประโยชน์อย่างอื่น มากกว่านี้ก็ได้"

 

     ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางโครงการฯ นี้  มีจำนวน 3 ราย คือ นายวรพจน์ นิ่มสุวรรณ  วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานประมาณราคา สำนักการโยธา , นายศุภกร หนูเกื้อ, น.ส.นวลสมร โกศลสมบัติ