ไอเดียกระฉูด!!! กทม.ชงสร้างเลนมอเตอร์ไซค์ 10 เส้นทางแก้จราจร-ลดอุบัติเหตุ??

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

    ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องผู้ขับขี่จักรยานยนต์หลายล้านชีวิตในกรุงเทพมหานคร  เมื่อมีการเปิดเผยจาก    พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  (รองผบช.น.)รับผิดชอบดูแลงานจราจร   ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาห้ามรถจักรยานยนต์ใช้สะพานข้ามทางแยกและอุโมงค์ลอดแยกรอบล่าสุด   ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)  โดยสำนักการจราจรและขนส่ง พร้อมด้วยสำนักโยธา  ได้เสนอแนวคิดที่จะสร้างช่องสำหรับรถจักรยานยนต์ในถนน 10 เส้นทาง เพื่อลดปัญหารถจักรยานยนต์เข้าไปใช้ช่องทางรถยนต์และเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ

 

 

      อย่างไรก็ตามเนื่องจากทาง บช.น.เพิ่งทราบรายละเอียดโครงการของกทม.  ตนจึงได้รับแนวคิดไปพิจารณาอีกครั้งว่าการสร้างช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์นั้นจะมีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯหรือไม่   เพราะโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาก่อน ซึ่งก่อนที่จะมีการดำเนินการทางกทม.จะต้องประสานงานกับสน.ท้องที่เพื่อนำเสนอรายละเอียดและรูปแบบให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่อีกครั้ง

     โดยถนนนำร่องโครงการช่องทางรถจักรยานยนต์ 10 เส้นทาง ได้แก่  1.ถนนพระรามที่ 6 จากถนนพระราม1 ถึงถนนราชวิถี 2.ถนนพิษณุโลก จากถนนราชดำเนินนอกถึงถนนสามเสน  3.ถนนงามวงศ์วาน จากถนนวิภาวดีรังสิต ถึงถนนประชาชื่น  4.ถนนพระราม9 จากถนนรามคำแหงถึงถนนศรีนครินทร์  5.ถนนศรีนครินทร์ จากแยกพัฒนาการ ถึง แยกศรีอุดม  6.รัชดาภิเษกใต้ทางด่วน จากแยกด่วนสาธุ ฯ ถึงก่อนถึงด่านทางด่วนช่องนนทรี  7.ถนนรัชดาภิเษก จากแยกอโศก ถึงแยกพระรามที่4   8.ถนนวงศ์สว่าง จากถนนประชาราษฎร์ ถึงเชิงสะพานพระราม7    9.ถนนรามคำแหง จากแยกคลองตัน ถึงแยกลำสาลี  และ 10.ถนนสรรพาวุธ จากแยกบางนา ถึงแยกสรรพาวุธ

     ส่วนปัญหารถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนขับขึ้นสะพานข้ามแยก และอุโมงค์ทางลอดแยก  พล.ต.ต.อดุลย์  ระบุว่าทางบช.น.ได้มีการเข้มงวดและดูแลโดยมีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาออกเป็นข้อบังคับแบบถาวร เนื่องจากบช.น.เห็นว่าการที่จะปล่อยให้รถจักรยานยนต์ใช้สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ลอดแยกนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากเกินไป อีกทั้งสะพานข้ามแยกที่มีการก่อสร้างนั้นไม่สามารถขยายช่องทางเพื่อรองรับรถจักรยานยนต์ได้เพราะมีข้อจำกัดด้านวิศวกรรมจราจร โดยปัจจุบันในกรุงเทพมหานครมีจำนวนรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกกว่า 4 ล้านคัน