"องอาจ" ฉะ DSI จ้องจับแต่พระทำดีมาทั้งชีวิต...(แต่) เจอสวนทันทีว่า ทำคดีหรือทำดีกันแน่ (ชมคลิป)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.tnews.co.th

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 59 นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย แถลงข่าวกรณีดีเอสไอ พบเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โอนมายังวัดพระธรรมกาย เพิ่มอีก 400 ล้านบาท ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกันระหว่างสหกรณ์ฯ ดีเอสไอ และวัดพระธรรมกาย พบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร สั่งจ่ายเช็คสหกรณ์ฯ มาบริจาคให้กับ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย 10 ฉบับ รวมยอดเงิน 387,160,000 บาท และบริจาคให้กับวัดพระธรรมกาย 11 ฉบับ รวมยอดเงิน 668,400,000 บาท ยอดรวมทั้ง 2 ส่วนเท่ากับ 1,055,560,000 บาท ต่อมา คณะศิษย์ช่วยกันตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาแก่สหกรณ์ เต็มจำนวน 1,055,560,000 บาท ทางสหกรณ์จึงมีหนังสือขอบคุณ และทำหนังสือแจ้งดีเอสไอ ให้ทราบว่าไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อวัดพระธรรมกาย และ พระธัมมชโย อีกต่อไป

 

สำหรับยอดเงิน 400 ล้านบาท ที่เป็นข่าว หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการนำเงินจากสหกรณ์ฯ โดยผิดกฎหมายมาบริจาคจริง ทางคณะศิษยานุศิษย์จะประชุมหารือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาต่อไป ซึ่งทางสหกรณ์ฯ ได้ฟ้องคดีแพ่งกับผู้ที่รับเช็คจากสหกรณ์ฯ ไปทั้งหมด 32 ราย รวมยอดเงิน 13,000 ล้านบาท และมีเพียงคณะศิษยานุศิษย์เท่านั้นที่ช่วยเหลือเยียวยาแก่ทางสหกรณ์ฯ จนครบจำนวน ขณะที่บุคคลอื่นๆ อีก 30 ราย ไม่มีใครเยียวยาแก่สหกรณ์แม้แต่บาทเดียว

 

พร้อมระบุเหตุใด ดีเอสไอ จึงระดมสรรพกำลังนับพันนายจะดำเนินคดีแต่กับ พระธัมมชโย ซึ่งทำความดีมาทั้งชีวิต ทั้งสร้างพระ สร้างวัด เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก การกระทำของดีเอสไอ จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทางสมาชิกสหกรณ์ ทำไมจึงไม่ไปทุ่มเทกำลังตามหาเงินที่เหลืออีก 13,000 ล้านบาท จากผู้รับเงินรายที่เหลือ ซึ่งยอดเงินมากกว่านับสิบเท่า

 

ส่วน พระสุวิทย์ วัดอ้อน้อย และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการกดดันให้ดำเนินคดีกับ พระธัมมชโย นั้น เป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏ จากการ shut down กรุงเทพฯ ดีเอสไอ ได้ส่งฟ้อง อัยการก็พิจารณาสั่งฟ้องแล้ว ขั้นตอนล่วงเลยจนจะเป็นจำเลยขึ้นศาลแล้ว แต่ทั้ง 2 คน ได้ร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด สั่งให้สอบเพิ่มเติม คดีนี้ล่วงเลยมากว่า 2 ปีแล้ว ทำไมข่าวจึงเงียบ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรง ดีเอสไอ ควรออกหมายเรียก หมายจับ หมายค้น นำตัวทั้งคู่มาสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อส่งให้อัยการ สั่งคดีขึ้นสู่ศาลโดยเร็วหรือไม่

 

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของดีเอสไอ เป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ มีใบสั่งหรือเปล่า ดีเอสไอ จะสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมและคณะศิษยานุศิษย์ว่าดำเนินการทุกอย่างด้วยความเที่ยงธรรมตามกฎหมาย ไม่ 2 มาตรฐานได้อย่างไร ซึ่งคณะศิษย์กำลังพิจารณากล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องต่อหน่วยงานของรัฐต่อไป และหากถูกมองว่า 2 มาตรฐาน เลือกปฏิบัติ มีวาระแฝงเร้น ก็ยากที่จะให้สังคมเชื่อมั่น เพราะอาจถูกมองได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองของผู้มีอำนาจเท่านั้น ซึ่งความจำเป็นรีบด่วนที่สุดของกระบวนการยุติธรรม ในวันนี้คือ ต้องปรับปรุงการดำเนินงานใหม่ ให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าไม่ลำเอียง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นกระบวนการยุติธรรมก็จะได้รับความเคารพและปฏิบัติตามจากประชาชนทั้งแผ่นดิน.

 

และจากกรณีดังกล่าวนั้นก็มีชาวเน็ตออกมาตั้งข้อสังเกต ชาวเน็ตนั้นก็ตั้งคำถามว่า พระธัมมชโยนั้นทำดี หรือทำคดีมาทั้งชีวิต

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปเมื่อปีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนายสุนพ กีรติกุลผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน และองค์คณะออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีดำ หมายเลขที่ 11651/2542และคดีดำหมายเลข 14735/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระไชยบูลย์ ธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สิทธิผล อายุ 62 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ 57 ปี ลูกศิษย์คนสนิท เป็นจำเลยที่ 1-2ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยสุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

 

โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระอ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และเงิน จำนวน 29,877,000บาทไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 902 ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 เช่นกัน

 

ทั้งนี้ เรืออากาศโทวิญญ วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม  2549 สรุปว่า ตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 4  ตุลาคม 2542 และวันที่ 16 ธันวาคม. 2542 ตามลำดับโดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิด

 

โจทก์ขอเรียนว่าการดำเนินคดีนี้ สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีว่า ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสั่งสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้พระสงฆ์ที่หลงเชื่อคำสอนบิดเบือนแตกแยกออกไปกลายเป็นสองฝ่าย มีความเข้าใจความเชื่อถือ พระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคตที่หนัก

 

ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษแต่เป็นการทำที่ถูกต้องคือ ต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เมษายน .2542) ในชั้นต้นหากมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริง ๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นพระคืนให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่า ต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระ ปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ให้พระพุทธศาสนา

 

คำร้องถอนฟ้องระบุต่อไปว่า บัดนี้ ข้อเท็จจริงในการเผยแพร่คำสอนปรากฏจากอธิบดีกรมการศาสนาผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 1 ว่า ในปัจจุบันจำเลยที่ 1กับพวก ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนาทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก

 

สำหรับในด้านทรัพย์นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กับพวกได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว

 

"ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่าเห็นว่า หากดำเนินคดีจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรโดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณรและประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหาขอศาลโปรดอนุญาต" คำร้องระบุ

 

 ศาลได้สอบถามว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยทั้งสองแถลงว่า ไม่คัดค้านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองคนไม่คัดค้านที่โจทก์ถอนฟ้องจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา

 

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อธิบดีอัยการคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าการถอนฟ้องคดีก่อนศาลจะมีคำพิพากษาสามารถทำได้ ซึ่งในอดีตอัยการสูงสุด เคยยื่นคำร้องแล้วเช่นกัน ความผิดพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  คดีกบฏผู้ก่อการร้าย

 

อย่างไรก็ดีสำหรับยักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกายที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญามีเพียง 2 คนเท่านั้นคงเหลือสำนวนคดียักยอกทรัพย์ที่รอการสั่งคดีในชั้นอัยการอีก 3 สำนวน ประกอบด้วย

1.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเบียดบังเงินวัด จำนวน 95 ล้านบาทเศษไป ซื้อที่ดิน

 

2.คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์นางสงบ ปัญญาตรง นายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท เป็นผู้ต้องหา เบียดบังเงินจำนวน 845 ล้านบาทเศษ

 

และ 3. คดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์ นายมัยฤทธิ์ปิตะวนิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือสีกาตุ้ย ลูกศิษย์คนสนิท ผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

นายอรรถพลกล่าวว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง การสั่งคดีของพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็จะต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีไว้เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 78 และ 128โดยเมื่อยุติการสั่งคดีก็ต้องถือว่าคดีนี้สิ้นสุดลงตามกระบวนการทางกฎหมายทันทีซึ่งจำเลยทั้งสองได้คืนที่ดินและเงินที่ก่อความเสียหายรวมมูลค่า 959,300,000 บาทคืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว