แล้วงัยล่ะทีนี้!! ผลพวงประชานิยมชาวเมียนมาในไทยทวงค่าแรง300บาทดูแลแรงงานเถื่อนทะลักเข้าประเทศอีก1-2ล้านคน??

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

     ถือเป็นภาพที่งดงามยิ่งกับมิตรไมตรีระหว่าง 2 ชนชาติไทยและเมียนมา ที่ไม่มีความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ ระหว่าง นางอองซาน ซุจี   และ พล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรี   เข้ามาเจือปนเกี่ยวข้องเหมือนที่คนบางกลุ่มบางจำพวก  พยายามจะสื่อให้เกิดความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ

 

     ผลทางตรงข้ามสังคมไทยยิ่งได้ประจักษ์ชัดว่า สถานะของพล.อ.ประยุทธ์  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.วันนี้    คือผู้นำประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับเฉกเช่นนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ยกย่องตัวเองว่าจากกระบวนการประชาธิปไตย หรือ  กฎกติกาการเลือกตั้งที่ชี้ชัดว่าแล้วว่าเต็มไปด้วยบทพิสูจน์เรื่องการทุจริตซื้อเสียง  และกระบวนการเข้าบริหารประเทศที่ท้ายสุดก็นำมาซึ่งการคอร์รัปชั่นทางตรงและอ้อม   ผ่านแนวนโยบายต่าง ๆ  ที่นำมาซึ่งการดึงเงินงบประมาณแผ่นดินแล้วแปรผันกลับไปสู่กระเป๋าเงินของกลุ่มทุนพรรคการเมือง 

     ขณะเดียวกันกับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนางอองซาน ซูจี  ยังมีอีกจุดหนึ่งทื่ถือเป็นข้อพิจารณาสะท้อนให้เห็นว่า  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  วันนี้  ได้กลายเป็นนักการเมืองอาชีพเช่นเดียวกับพี่ชาย อย่างนายทักษิณ  เต็มตัวแล้ว   เมื่อเธอได้หยิบฉวยสถานการณ์ไปใช้เป็นองค์ประกอบในการสื่อสารทางการเมือง จากสิ่งที่โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ว่า

 

     “ แรงงานเมียนมาถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสองประเทศและในช่วงสมัยรัฐบาลของเธอ   มีการส่งเสริมให้ไปจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามหลักกฎหมายสากล     และเชื่อว่านับจากนี้ประชาชนชาวเมียนมา น่าจะได้รับการดูแลจากทางรัฐบาลมากขึ้น  โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

 

     โดยอย่างน้อยสิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ทำให้เข้าใจเสมือนว่าที่ผ่านมาแรงงานเมียนมาในประเทศไทย    ยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  เท่าที่ควร  ภายใต้สิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย  เสมือนเช่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด??

     อย่างไรก็ตามท้ายสุดพล.อ.ประยุทธ์   กลับทำให้เห็นว่ารัฐบาลจากการยึดอำนาจ  ไม่ได้มีขีดความสามารถในการบริหารประเทศด้อยไปกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง  มิหนำซ้ำอาจดีกว่าสิ่งที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กระทำไว้ในอดีต    เพราะทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนางอองซาน ซูจี  สามารถบรรลุข้อตกลงถึงกระบวนการความร่วมมือดูแลแรงงานเมียนมาในหลายประเด็น  อาทิ 

 

1.มาตรการคุ้มครองและดูแลแรงงานเมียนมา    ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษาของบุตรหลานของแรงงานและสิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางด้านกฎหมายในไทย

2.การยกระดับมาตรฐานในการคุ้มครอง เรื่องการเตรียมเปิดตัวระบบร้องทุกข์ออนไลน์สำหรับแรงงานผ่านทางเว็บไซต์

3.การให้บริการสายด่วนร้องทุกข์

4.การตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือแรงงานตามแนวชายแดนและจังหวัด  ฯลฯ

 

     อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประเด็นว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยธรรม  เศรษฐกิจ  การต่างประเทศ  ฯลฯ  ที่จะประเมินได้จากความสำเร็จในข้อตกลงร่วมระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และนางอองซาน ซูจี    ที่สุดแล้วปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ   ที่กำลังถาโถมความมั่นคงของประเทศมากขึ้น  โดยเฉพาะถ้านับจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เริ่มต้นขึ้นในเดือน เมษายน  2555   และกลายเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทะลักล้นเข้ามาในประเทศไทย  ตามเหตุผลของทีดีอาร์ไอซึ่งระบุว่าค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราต่ำกว่าของไทยประมาณ 3  เท่าตัว   ทำให้ประมาณการตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในไทยปัจจุบันมีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน   และภายใต้ปริมาณแรงงานต่างด้าวขณะนี้ก็มีจุดเสี่ยงให้ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน  เช่นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากกรณีตัวอย่าง 5  ข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานเมียนมาถึงรัฐบาลไทย โดยผ่านนางอองซาน ซูจี ประกอบด้วย

 

1.ขอให้รัฐบาลเมียนมาร่วมกับรัฐบาลไทยเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและลักลอบทำงานในไทยประมาณ 1-2 ล้านคน

2.ขอให้ประสานกับทางการไทยติดตามและบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างไทยจ่ายค่าจ้างตามข้อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากขณะนี้นายจ้างบางส่วนทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และจังหวัดต่างๆ ยังจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท

 3.ประสานงานกับทางการไทย เพื่อให้สิทธิแรงงานเมียนมาที่มีบัตรสีชมพูสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกจำกัดการเดินทางอยู่ในจังหวัดที่ทำงานเท่านั้น

4.ขอให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างทางการไทยกับเมียนมาในการนำเข้าแรงงานเมียนมา มาทำงานในไทย โดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ

5.ขอให้ทางการไทยดูแลบุตรหลานแรงงานเมียนมา ให้ได้รับการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งสามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างไทยกับเมียนมาได้

 

     ซึ่งทั้งหมดนอกเหนือจะเป็นข้อเรียกร้องของแรงงานเมียนมา  ที่ในฐานะผู้บริหารประเทศทุกรัฐบาลต้องรับฟังและหาจุดสมดุลให้ลงตัว    

 

     แต่อีกนัยหนึ่งก็คือข้อบ่งชี้ว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวกำลังเดินมาถึงจุดเฝ้าระวังว่าต่อไปในอนาคตปริมาณแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทยหรือไม่อย่างไร  ทั้งในแง่การให้บริการด้านสาธารณสุข  การบริการสาธารณะ    ปัญหาอาชญากรรม   ฯลฯ     ขณะที่แน่ชัดที่สุดปริมาณการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวในไทยก็คือผลจากนโยบายประชานิยมทางการเมืองว่าด้วยอัตราค่าข้างขั้นต่ำ  300 บาท    ซึ่งสามารถอ้างอิงได้ตามข้อเรียกร้องที่ 2   ของแรงงานเมียนมาถึงรัฐบาลไทย     ถึงเหตุปัจจัยว่าทำไมแรงงานต่างด้าวจึงมากกมายเกลื่อนเมืองในขณะนี้ ??