คสช.ย้ำชัดๆ !!!  ฟังให้ตรงกัน ไม่ห้ามแจงร่างรธน.ฉะ การเมืองอย่า"บิดเบือน"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่www.tnews.co.th

โฆษก คสช. ย้ำไม่เคยปิดกั้นการแสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ยกในสังคมออนไลน์ไม่เคยมีใครไปปิดกั้น ชี้บางกลุ่มมีนัยยะอื่นแอบแฝง พยาม สร้างกระแส "บิดเบือน"
 

     พ.อ.วินธัย. สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ขอให้ประชาชนบริโภคข่าวสารด้วยใช้วิจารณญาณ หลังจากมีบางบุคคลกล่าวอ้างว่า คสช.ปิดกั้นการแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริง เพราะคสช.มีแต่เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ทั้งนี้ จะเห็นว่า ปัจจุบันยังมีการเผยแพร่ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญจากบุคคลต่างๆ มาต่อเนื่อง ซึ่งมีหลากหลายทั้งเห็นด้วยและเห็นไม่ด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

     "บางกรณีที่อาจดูสุ่มเสี่ยง ผิดเงื่อนไขกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็จะใช้แนวทางพูดคุยทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ หรือการตักเตือน การใช้กฎหมายก็พยายามไม่ทำให้ภาพที่ออกมานั้น ดูแข็งตึงจนเกินไป การอ้างถึงการถูกปิดกั้นนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีบางคนพยายามสร้างกระแสบิดเบือน"
         
     พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า กรณีสมาชิกพรรคการเมือง บางคนบางพรรค หรือ แกนนำมวลชนบางคนบางกลุ่ม ก็เห็นมีการนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางสังคมออนไลน์กันเป็นประจำ ยังไม่เห็นใครไปห้าม ทำนองปิดกั้นอะไร จนคนทั่วไป ก็รู้ได้ว่าแต่ละบุคคลๆนั้นใครคิดเห็นอย่างไรจากที่แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นกันมา ส่วนการแสดงออกของบางกลุ่มที่เน้นจัดกิจกรรมลักษณะการรวมตัวกัน สังคมเริ่มมีข้อกังขาในเจตนาที่แท้จริง

     ส่วนแรกคือสถานะตัวตนที่แท้จริงในทางสังคม เพราะถ้าเป็นกิจกรรมกลุ่มนักศึกษา ซึ่งคนทั่วไปจะดูออกถึงพลังเจตนาบริสุทธิ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ในหลายๆกลุ่มกลับพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงได้ของแต่ละบุคคลต่อบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยมาตลอดระยะหลัง อีกทั้งพฤติกรรมต่อการกระทำใดๆ ที่มักเกินขอบเขตของกฎหมาย ทั้งนี้อาจมุ่งหวังให้ เจ้าหน้าที่ตอบกลับด้วยการบังคับใช้กฎหมาย หรือหวังจะหยิบยกสร้างประเด็นต่อเนื่องจากผลการปฏิบัติของ เจ้าหน้าที่เอาไปขยายผลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในมุมทางการเมือง แต่เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่มองออก
         
     ส่วนการแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้หลากหลายวิธีและไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีตัวอย่างให้เห็นๆ กันอยู่แล้ว แต่บางบุคคลบางกลุ่มก็ไม่เลือกที่จะใช้ จึงทำให้สังคมเข้าใจว่า น่าจะมีนัยยะอื่นแอบแฝงเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องดูแลให้สังคมสงบเรียบร้อย การบังคับใช้กฎหมายคงเป็นเครื่องมือหนึ่งของเจ้าหน้าที่แต่ก็จะใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวังมาตลอด เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีหยิบยกไปเป็นประเด็นเงื่อนไขเพิ่มเติม