ยิ่งกว่าเอวัง!!! เมื่อมหาเถรฯยืนกรานยึดมติมส.ที่ 4/2544  ก็สิ้นข้อสงสัยให้DSIต้องรอกระบวนการสงฆ์เกลี้ยกล่อมพระธัมมชโยมอบตัว??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

     ถึงตรงนี้ต้องถือว่ามาถึงบทสรุปสำคัญแล้วว่าสำหรับการพิจารณาชี้ชะตาพระธัมมชโย  ในวงหมู่ประชุมของมหาเถรสมาคมได้ถือเป็นอันยุติอย่างสิ้นเชิงแบบไม่ต้องคาดหวังอะไรต่อไป   เมื่อ  ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน   ได้วินิจฉัยกรณีที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแล พศ.ได้ปรึกษาหารือกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เกี่ยวกับการดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รับปากว่าจะช่วยดำเนินการเรื่องดังกล่าว

 

     โดยที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติเห็นว่ากรณีของพระธัมมชโย ให้ยึดมติ มส.ครั้งที่ 4/2544 เรื่องการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ระบุว่า “ในที่ประชุม มส.ครั้งที่ 4/2544 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการ มส.เสนอว่า เพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎ มส.และระเบียบ มส.ดียิ่งขึ้น จึงขอเสนอให้เจ้าคณะใหญ่ทุกหนปฏิบัติพร้อมกับเจ้าคณะทุกระดับ ทุกกรณี ให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองแต่ละหน  ดังนั้นกรณีของพระธัมมชโย   เรื่องต้องจบในระดับหน และจะไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม มส.อีก เว้นแต่จะมีการรายงานเพื่อทราบเท่านั้น”

     ประเด็นสำคัญเมื่อการพิจารณากรณีของพระธัมมชโยถูกโยนกลับไปที่เจ้าคณะใหญ่หน  และเจ้าคณะทุกระดับ  ทำให้มีหลายคนมองว่าจากนี้ต้องถือเป็นหน้าที่ของดีเอสไอในฐานะผู้รักษากฎหมายเท่านั้น ที่จะทำให้ประเด็นปัญหากระจ่างชัดถึงทางออกว่าผู้ต้องหาอย่างพระธัมมชโยจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไร

 

     เนื่องจากเมื่อย้อนกลับไปพิจารณามติมหาเถรสมาคมที่ยังยืนยันว่าจะต้องยึดถือ  มติมส.ครั้งที่ 4/2544 ว่าด้วยสาระสำคัญว่า   “ เหตุเกิดที่ใดเจ้าคณะปกครองต้องดำเนินการให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองของตน รวมทั้งให้ใช้หลักการในกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11/2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรมมาใช้ประกอบ เพื่อที่จะให้เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดข้อยุติโดยไม่ละมุนละม่อม ไม่เกิดการกระทบกระทั่งต่อกัน”

 

     เทียบกับกรณีของพระธัมมชโย  เท่ากับว่าผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าคณะปกครองที่จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับพระธัมมชโย  โดยตำแหน่งก็คือ 

 

        1.พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขตพระอารามหลวง ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี  ซึ่งล่าสุดได้ประกาศไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการเจรจาให้พระธัมมชโยมอบตัวไปแล้ว   โดยอ้างว่าเป็นข้อกล่าวโทษของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  ไม่เกี่ยวกับกิจการของสงฆ์

         2.พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑโฒ)   ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม   ในฐานะเจ้าคณะภาค 1  ซึ่งถูกมองว่าที่ผ่านมาได้รับการผลักดันจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ให้ขึ้นทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะภาค  1  ทั้ง ๆ ที่มีอายุเพียงแค่ 45-46   ปี อายุพรรษา  25   แต่ต้องมารับผิดชอบภาระสำคัญในการพิจารณาลงนิคหกรรมพระธัมมชโย  ที่หลายคนเชื่อว่าท้ายสุดก็ต้องรอรับบัญชาแนวทางการพิจารณาหรือคำสั่งจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ก่อนจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปโดยพลการ

        3.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์   เจ้าอาวาส วัดพิชยญาติการาม  ในฐานะเจ้าคณะหนกลาง  หรือ  พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสมโม)   เดิม   ซึ่งมีผู้ย้อนประวัติให้ประจักษ์แล้วก็คือ  พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าคณะภาค 15  และรักษาการเจ้าคณะภาค 1  ในอดีต  ซึ่งเคยทำหน้าที่เปิดศาลสงฆ์ ที่วัดสามพระยา  เมื่อวันที่  22 ก.ย. 2543   รับฟ้องพระธัมมชโยรวม 3 ข้อหาคือ 1.บิดเบือนลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า 2.อวดอุตริมนุสธรรม และ 3.ลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หลอกลวงประชาชน แต่บทสรุปสุดสุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ อีกเลยกับพระธัมมชโย โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์   หรือ  พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม)  รักษาการเจ้าคณะภาค 1ในขณะนั้น  อ้างว่าต้องรอให้คดีอาญาในศาลจบก่อน

 

      ไม่เท่านั้นในปี2544  เมื่อสมเด็จฯ วัดชนะสงคราม ตั้งให้พระธรรมโมลี เป็นเจ้าคณะภาค 1 โดยสมบูรณ์  พระธรรมโมลีในขณะนั้น หรือ  สมเด็จพระพุทธชินวงศ์   ยังไปเป็นพยานให้พระธัมมชโยในคดีอาญา  โดยรับรองการสอนของพระธัมมชโยว่า ถูกต้องตามพระไตรปิฎกทุกประการ   อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้  นายพชร ยุติธรรมดำรง   อัยการสูงสุดในขณะนั้นใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการสั่งถอนฟ้องพระธัมมชโยตามความผิดเกี่ยวกับข้อกล่าวหา  ตามที่มีผู้ร้องถึงพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่ามีการยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา บิดเบือนคำสอน และอวดอุตริมนุสธรรม

 

      โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่ากรมที่ดินตรวจพบการครอบครองที่ดินของธัมมชโยจริง    ทางกรมการศาสนาในขณะนั้นจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษพระธัมมชโยในคดีอาญา ม.137, 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ (จำเลยที่ 2) และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้าน ไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวร  พรหมถาวร  อีกทอดหนึ่ง

 

       และเมื่อลำดับไล่เรียงถึงท่าทีในอดีตและล่าสุดของเจ้าคณะปกครองต่อพระธัมมชโย  ซึ่งมีหน้าที่อันสำคัญยิ่งตามที่ประชุม มส.ครั้งที่ 4/2544 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544  จึงทำให้ภาพสถานะการดำเนินการกับพระธัมมชโยของหมู่สงฆ์จึงชัดเจนเป็นที่สุดว่า พระธัมมชโยซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา   จะได้รับการปกป้องดูแลต่อไป โดยไม่ต้องพิสูจน์ความจริงใดๆในชั้นการปกครองของสงฆ์ ให้พุทธศาสนิกชนได้หายแคลงใจอีกครั้งหรือไม่  อย่างไร   ???