อึ้ง!! เผย 7 เรื่องลับของสายการบินที่คุณยังไม่เคยรู้??

ติดตามข่าวเพิ่มเติม deep.tnews.co.th

เครื่องบิน เป็นพาหนะที่มีราคาในการโดยสารแพงที่สุด ซึ่งต้นทุนที่เป็นสาเหตุให้ค่าบริการแพงกว่าพาหนะชนิดอื่นๆนั้น เกิดจากหลายองค์ประกอบของการดูแลเครื่องบินให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานจริงๆ และการทำให้เครื่องบินลำหนึ่งสามารถบินขึ้นและลงยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ค่าจ้างบุคลากรทั้งภาคพื้น และบนอากาศ (พนักงานต้อนรับบนเครื่อง) ฯลฯ

ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นกระบวนการและขั้นตอนอันมากมายที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังฉากการบินอันแสนสบายของผู้โดยสาร แต่นี่เองคือสาเหตุที่เครื่องบินมีราคาค่างวดของตัวเองที่สูงกว่าพาหนะชนิดอื่นอย่างชัดเจน โดยแลกกับการที่ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทาง

มีข้อเท็จจริงมากมาย ที่ผู้โดยสารพอจะทราบกันดี แต่สายการบินอาจไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดให้คุณรู้  จริงๆแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่(อาจจะ)เป็นความลับแก่ผู้โดยสาร ที่หากได้รู้ ก็จะเข้าใจเลยว่า สายการบินที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้วัดกันที่ราคาถูก หรือบริการเสริมลดแลกแจกแถมแต่อย่างใดและนี่คือตัวอย่าง 7 ความลับ ที่สายการบิน(อาจไม่)อยากให้คุณรู้

 

อึ้ง!! เผย 7 เรื่องลับของสายการบินที่คุณยังไม่เคยรู้??

 

1. ตั๋วเครื่องบินราคาแพงเพราะว่าปลอดภัยที่สุด

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะหวาดกลัว ไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน จากเหตุการณ์เครื่องบินตกซ้ำๆซ้อนๆภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแต่ละครั้ง มักจะกลายเป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าหนังสือพิมพ์ และดูร้ายแรงจนเหมือนกับว่า การขึ้นเครื่องบินเป็นการไปเสี่ยงตาย แต่หากดูตามสถิติของกระทรวงคมนาคมไทยแล้ว ภายในปี 2552-2556 มีผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินแค่เพียง 5 ราย และบาดเจ็บ 41 ราย เทียบกับผู้เสียชีวิตทางรถยนต์ถึง 39,373 ราย และบาดเจ็บถึง 100,667 ราย และจากสถิติทั่วโลก โอกาสที่เครื่องบินพาณิชย์ตกมีเพียงแค่ 1 ใน 11 ล้านเที่ยวบิน เท่านั้นปลอดภัยเป็นอันดับสองรองจากการขึ้นลิฟต์เท่านั้น

จากสถิติของหน่วยงานทางคมนาคมทางอากาศแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ระหว่างปี 1983 – 2000 มีผู้โดยสารเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางอากาศทั้งหมด 53,487 คน และมีผู้รอดชีวิตจากจำนวนดังกล่าวถึง 51,207 คน และเสียชีวิตแค่ 2,280 คน คิดเป็นอัตราส่วนการรอดชีวิตสูงถึง 95.7 เปอร์เซ็นต์ นั่นก็เป็นเพราะว่าเครื่องบินเป็นพาหนะเดียวที่ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือต่างต้องศึกษาและทำความเข้าใจวิธีการเอาตัวรอดก่อนเสมอ ดังนั้น ความปลอดภัย จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับสายการบิน และราคาของตั๋วก็อาจจะเป็นตัวสะท้อนถึงระดับคุณภาพและความรับผิดชอบที่สายการบินมีต่อผู้โดยสารได้ในระดับหนึ่ง ที่คุณสามารถเลือกให้แก่ตัวเองได้

 

2. กัปตันบนเครื่องสำคัญที่สุดและสั่ง(อาหาร)ได้ทุกอย่าง

จริงๆแล้วกัปตันบนเครื่องนั้นมีอำนาจสามารถสั่งการได้ทุกอย่าง สามารถจับกุมผู้โดยสารที่ไม่ทำตามคำสั่งและอาจเป็นภัยอันตรายคุกคามความปลอดภัยของผู้โดยสารคนอื่นๆได้ กัปตันสามารถสั่งเทียบปรับตามฐานความผิดต่างๆ และยังสามารถรับรองพินัยกรรมให้แก่ผู้โดยสาร ในกรณีที่ผู้โดยสารเสียชีวิตบนเครื่องได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีสิทธิขาดในการวินิจฉัยว่า จะรับหรือไม่รับผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ในกรณีที่ผู้โดยสารเมามายอย่างมากก่อนขึ้นเครื่อง หรือมีพฤติกรรมน่าสงสัยหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารในเครื่อง
 

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความที่กัปตันสำคัญขนาดนี้ กัปตัน(สังเกต 4 ขีดที่บั้ง) และนักบินที่ 2 (First Officer – F/O) จึงจะได้รับเสิร์ฟอาหารไม่เหมือนกันเสมอ เพราะหากอาหารจานหนึ่งเกิดเป็นพิษ อย่างน้อยก็จะยังมีคนที่ขับเครื่องบินต่อไปได้ และนักบินทั้งสองคนจะต้องผลัดกันนอน ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินแบบ long-haul (นานกว่า 5 ชั่วโมง) ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อกัปตันนอนพักผ่อนเรียบร้อยแล้ว และตื่นขึ้นมา ก็จะพบว่านักบินที่ 2 ที่นั่งข้างขวานั้น อาจจะกำลังผลอยหลับเช่นกัน

 

3. เครื่องบินบินได้ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์

เครื่องบินยังสามารถบินได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ในกรณีฉุกเฉินได้ โดยสามารถบินได้ไกลถึง 10 กม. ในทุกๆระดับความสูง 1.5 กม. ซึ่งหมายความว่า หากเครื่องบินบินในระดับความสูงที่ 9 กม. แล้วเครื่องยนต์ทั้ง 2 ตัว เกิดขัดข้องและไม่ทำงาน เครื่องลำนั้นจะยังสามารถบินต่อไปอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ไอพ่นได้ไกลถึง 60 กม. ด้วยเหตุนี้เอง ไม่บ่อยนัก ที่อุบัติเหตุทางอากาศจะเกิดจากเหตุเครื่องยนต์ขัดข้อง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความผิดพลาดส่วนตัวของนักบิน หรือเหตุสุดวิสัยในขณะที่ take-off หรือ landing มากกว่า

 

4. "น้ำ"ดื่มจากขวดดีกว่า

เคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมพนักงานต้อนรับถึงเสิร์ฟน้ำจากขวด ไม่รินออกมาจากถังเก็บน้ำ?
สำหรับเครื่องบิน น้ำที่ใช้บนเครื่องไม่ว่าจะเป็นน้ำก๊อกล้างมือในห้องน้ำ น้ำชักโครก ฯลฯ จะถูกส่งมาจากถังเก็บน้ำบนเครื่อง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครมุดเข้าไปทำความสะอาดให้เราทุกครั้งเวลาที่เครื่องลงจอด เพราะว่าเครื่องบินลำหนึ่งๆ มีเวลาเฉลี่ยในการทำความสะอาด ถ่ายเทน้ำเสีย และเติมน้ำดีเข้าไปใหม่ เพียงชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น ดังนั้น ถังเก็บน้ำในเครื่องบางทีอาจจะไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็น 10 ปีแล้วก็เป็นได้  นอกจากนี้ ขั้นตอนการทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำและการเติมน้ำดีเข้าไปในเครื่องใหม่ มักทำพร้อมๆกันและท่อก็อยู่ใกล้ๆกันแนะนำว่า ทางที่ดี หากต้องการดื่มน้ำ อย่าใช้น้ำจากก็อก ให้ดื่มจากขวดเท่านั้น  และแน่นอนที่สุด ถ้าเลี่ยงการดื่มชาและกาแฟบนเครื่องได้ เป็นดีที่สุด

 

อึ้ง!! เผย 7 เรื่องลับของสายการบินที่คุณยังไม่เคยรู้??

5. ไม่จำเป็นอย่าพา “สัตว์เลี้ยง” บินไปด้วย

หากลองสังเกต ในขณะที่เครื่องบินกำลังจะเทียบจอดกับอาคารผู้โดยสารของสนามบิน พนักงานที่อยู่บนลานจอดแต่ละคนจะใส่หูฟัง เพื่อป้องกันเสียงดังที่ออกมาจากเครื่องยนต์ ก่อนที่จะถอดออก เมื่อนักบินดับเครื่องยนต์เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องบอกก็พอเดาได้ว่า เสียงจากเครื่องยนต์ในขณะที่มันทำงานนั้นอันตรายสำหรับหูของพนักงานที่สนามบิน … และแน่นอนว่า เสียงดังเหล่านี้ โดยปกติผู้โดยสารที่นั่งบนเครื่องจะไม่ได้ยินหรือรำคาญ ไม่มีอะไรน่าห่วงใช่หรือไม่?

เรื่องของเรื่องก็คือ โซนที่เก็บสัมภาระ โหลดกระเป๋าลงใต้ท้องเครื่องนั้น ก็คือจุดเดียวกันกับที่ “ลูก” ของหลายๆท่านต้องไปอยู่ ในระหว่างที่ “แม่” ของพวกมันต่างขึ้นไปนั่งอยู่ในห้องโดยสารตามปกติ ซึ่งหมายความว่า พวกมันจะต้องทนกับเสียงเครื่องยนต์ที่น่ารำคาญไปตลอดทางหลายชั่วโมง จนกว่าเครื่องบินลำนั้นจะไปถึงยังจุดหมาย ลองนึกดูก็จะเข้าใจว่ามันน่ารำคาญขนาดไหน จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะพวกมันต้องทนอยู่ในกรงที่เจ้าของใส่ไว้เพื่อโหลดรวมกับเพื่อนตัวอื่นๆอีกที แล้วอย่างนี้ มีหรือที่พวกมันจะไม่หงุดหงิดหลังผ่านสมรภูมิ “เสียง” หลายชั่วโมง และการพลัดพรากจากเจ้าของที่ปกติจะปลอบโยนพวกมันในเวลาแบบนั้น  รู้อย่างนี้แล้ว ลองคิดให้ดีหลายๆรอบ ก่อนที่ครั้งหน้าคุณจะพา “ลูกๆ” ไปไหนโดยเครื่องบินกันนะ

 

6. "15 นาที" ออกซิเจนจากหน้ากาก

เวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หน้ากากออกซิเจนจะเด้งตกลงมาจากเพดานเหนือที่นั่งของผู้โดยสารแต่ละท่านทันทีโดยอัตโนมัติ เมื่อสวมหน้ากาก ผู้โดยสารทุกคนจะสามารถสูดอากาศได้เต็มปอดอีกครั้ง ถึงแม้ว่าเครื่องจะอยู่ในระดับความสูงที่ความหนาแน่นของออกซิเจนเบาบางมากๆ ตามหลักการ ออกซิเจนจะมีพอสำหรับผู้โดยสารทั้งลำได้สูดหายใจ นานถึง 15 นาที ซึ่งภายใน 15 นาทีนี้ เพียงพอต่อการยืดเวลาให้กัปตันลดระดับความสูงของเครื่องต่ำลง จนเราสามารถกลับมาหายใจได้อีกครั้ง
โดยทางกายภาพนั้น ในระหว่างที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่ระดับความสูงมากๆ เรายังมีเวลา 15-20 วินาที ก่อนที่จะหมดสติจากการที่สมองขาดออกซิเจน ด้วยเหตุนี้ เวลาที่คุณจะขึ้นเครื่องบินทุกครั้ง จะต้องตระหนักไว้ด้วยว่า ทุกวินาทีมีค่าจริงๆ และเวลาเพียง 15-20 วินาที อาจช่วยชีวิตคนข้างๆ เราให้รอดเงื้อมมือมัจจุราชได้

วิธีการทั้งหมดเพื่อช่วยเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่างถูกบรรยายและสาธิตทุกครั้งโดยพนักงาน แต่ผู้โดยสารมักไม่ใส่ใจในการดูและคิดว่า เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นได้บนเครื่อง ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้โดยสารทุกคน ควรจะหันมาใส่ใจและตั้งใจฟัง เพื่อเอาตัวรอดได้อย่างถูกต้องหากเกิดสถานการณ์คับขันขึ้นจริงๆ

 

7. อย่าคิดว่าทุกอย่างบนเครื่องสะอาด!!

เนื่องจากเครื่องบินที่คุณนั่ง ก็คือเครื่องลำเดิม ลำเดียวกับที่มาส่งผู้โดยสารจากอีกที่หนึ่ง เป็นการใช้งานเครื่องต่อจากเที่ยวบินก่อนหน้านี้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ระยะห่างของเวลาระหว่างเที่ยวบินที่แล้วที่มาถึงสนามบิน กับเที่ยวบินที่คุณกำลังจะบินไปนั้น มักจะห่างกันอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมง แน่นอนว่า ภายในระยะเวลาดังกล่าว พนักงานฝ่ายภาคพื้นต่างต้องเร่งแข่งกับเวลา เพื่อเอาเครื่องออกให้ตรงตาม “สเก็ต” (schedule) เพราะไม่เช่นนั้น สายการบินก็ต้องจ่ายค่า delay โดยไม่จำเป็น
 

เช่นเดียวกัน การทำความสะอาดภายในห้องโดยสาร จึงมีทีมงาน outsource เข้ามาทำความสะอาดแต่ละไฟลต์ให้สายการบิน ซึ่งด้วยข้อจำกัดของเวลา บางครั้งพนักงาน outsource ที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกซอกทุกมุม… นอกจากนี้ สิ่งที่คุณคิดว่ามัน “ใหม่” บางครั้งสำหรับบางสายการบิน อาจไม่ได้ใหม่เสมอไป เช่น แผ่นรองศีรษะ อาจเป็นอันเดิมที่คนที่นั่งที่นั่งก่อนหน้าคุณในไฟลต์ที่แล้วใช้ ตลอดจน หูฟัง มักจะเป็นหูฟังตัวเก่าที่นำไปใส่ถุงแพ็คมาใหม่พร้อมแผ่นรองหูใหม่ หรือหมอนที่มักจะวางไว้บนที่นั่งเหมือนเดิม ตลอดจนผ้าห่ม ที่ใช้จากไฟลต์ที่แล้ว แค่ถูกม้วนพับเก็บไว้เหมือนเดิมก่อนแจกจ่ายใหม่เฉพาะเวลาที่ผู้โดยสารขอผ้าห่ม ที่สำคัญ โต๊ะทานอาหารในแต่ละที่นั่ง บางครั้งอาจไม่ได้ถูกเช็ดทำความสะอาดทุกจุดโดยละเอียด ซึ่งคนในไฟลต์ที่แล้วอาจใช้โต๊ะนั้นเปลี่ยนแพมเพอร์สลูกจอมซนของเขาก็เป็นได้

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด นั่นคือประเด็นปลีกย่อย ที่สายการบินอาจไม่เคยบอกให้คุณได้ทราบ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ งานบริการของสายการบินมีต้นทุนที่สูงกว่าพาหนะเดินทางประเภทอื่นๆ และในทางเดียวกัน มีทั้งความรับผิดชอบและมีรายละเอียดปลีกย่อย มีขั้นตอนมากมายที่ต้องใส่ใจเพื่อผู้โดยสารอย่างละเอียดอ่อนมากกว่าพาหนะประเภทอื่นๆ และทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของสายการบิน หมดไปกับการทำให้ทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่า เครื่องบินลำหนึ่งๆ จะบินออกไปบริการผู้โดยสารบนเครื่องให้ถึงจุดหมาย และพร้อมต้อนรับผู้โดยสารชุดต่อไปอีกหลายร้อยชีวิตในเที่ยวหน้า เพื่อพากลับมายังบ้านของพวกเขาอย่างปลอดภัย นั่นเอง