เอาที่สบายใจ!!! "จอน อึ๊งภากรณ์" นำร้องศาลปค.ค้านประกาศกกต.กำหนดวิธีแสดงความเห็นประชามติไม่เป็นธรรม??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

           นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ( ไอลอว์ ) , นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม , นางประภาศรี เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน รวม 13 คน ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ กกต. ผู้ถูกฟ้อง ออกประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่า เนื้อหาในประกาศดังกล่าว ละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

         

            ผู้ฟ้องทั้ง 13 ราย จึงขอให้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอน ประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็น ในการออกเสียงประชามติพ.ศ.2559 และขอให้ศาลปกครองสูงสุด ไต่สวนเพื่อกำหนด มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้สั่งระงับการใช้ ประกาศ กกต.ดังกล่าว และระงับการออกอากาศรายการ “ 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ” ที่มีการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในขณะนี้ ที่เข้าข่ายสนับสนุนให้รับร่างรธน. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดี

          นายจอน กล่าวว่า ภาคประชาชน เห็นว่าประกาศดังกล่าว ละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ส่งผลให้ประชาชนขาดข้อมูลที่จะใช้ในการไตร่ตรองว่าจะลงประชามติอย่างไร นอกจากนี้ เนื้อหาของประกาศดังกล่าว ยังไปไกลเกินกว่าที่ พ.ร.บ.ประชามติกำหนด เช่น กำหนดห้ามจำหน่ายเสื้อ , ห้ามจัดเวทีพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญหากไม่รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งภาคประชาชน เห็นว่า การรณรงค์ประชามติไม่ผิด เป็นสิ่งที่ทำได้ และทั่วโลกก็จะเปิดอิสระให้มีการแสดงความคิดเห็น แต่ กกต. ซึ่งมีทำหน้าที่ ที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตกลับไม่ทำหน้าที่ แต่ไปปิดปากจำกัดสิทธิของประชาชนที่เห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังทำผิดหน้าที่จัดให้มีรายการที่นำกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเสนอด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเหมือนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้คนเห็นแย้งแสดงความคิดเห็นด้วยและต้องทำตัวเป็นกลาง

          ด้านนายเอกชัย  กล่าวว่า ประกาศ กกต.ที่มีปัญหาคือข้อ 5 (5) ห้ามชักชวนรณรงค์ให้ใส่เสื้อเพราะจะเข้าข่ายเป็นการปลุกระดมซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง (4) ที่การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นจะทำได้ต้องมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐรับรอง ถือเป็นการจำกัดสิทธิบุคคลธรรมดา ซึ่งถ้าไปดูกฎหมายประชามติในปี 2550 มีทั้งหมด 11 หมวด ไม่มีหมวดใดที่กำหนดว่าประชาชนจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร แต่ทำประชามติครั้งนี้กฎหมายจำกัดสิทธิชัดเจน ซึ่งเราหวังว่าศาลทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเพราะถ้าประชาชนไม่แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราไม่สามารถเรียกว่าการออกเสียงครั้งนี้คือการทำประชมติ

          ขณะที่   น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ กลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า เป็นตัวแทนของนักกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว ที่เห็นว่า การรณรงค์ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ ก่อนมีประกาศ กกต.ก็ขายเสื้อโหวตโนได้  แต่เมื่อประกาศบังคับใช้ มีการนำเสื้อไปขายหรือใส่เสื้อก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นข่มขู่ว่าถ้าไม่ถอดจะถูกจับกุม เราเห็นว่าการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญควรมีพื้นที่ที่จะแสดงออกได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญจะมาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ควรที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

          ศาลปกครองสูงสุด รับคำฟ้องไว้ในสารบบความ หมายเลขดำ ฟ.14/2559 โดยศาลจะพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องและอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ซึ่งขณะนี้ศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับคำขอไต่สวนขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว