คุก 2 ปี แค่จิ๊บๆ...รู้หรือไม่"ขวัญชัย"มีโอกาสถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำ(ดูรายละเอียด)

คุก 2 ปี แค่จิ๊บๆ...รู้หรือไม่"ขวัญชัย"มีโอกาสถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำ(ดูรายละเอียด)

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ อายุ 62 ปี ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 44 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 35 ปี นายเหวง โตจิราการ อายุ 59 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 45 ปี นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 58 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก อายุ 52 ปี นายนิสิต สินธุไพร อายุ 54 ปี นายการุณ หรือ เก่ง โหสกุล อายุ 43 ปี ส.ส.เพื่อไทย นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 58 ปี นายภูมิกิติ หรือ พิเชษฐ์ สุจินดาทอง อายุ 52 ปี แกนนำ นปช.นายสุขเสก หรือ สุข พลตื้อ อายุ 34 ปี นายจรัญ หรือ ยักษ์ ลอยพูล อายุ 39 ปี การ์ด นปช.นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 54 ปี นายชยุต ใหลเจริญ หัวหน้าการ์ด นปช.นายสมบัติ หรือ ผู้กองแดง มากทอง อายุ 48 ปี นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์ อายุ 25 ปี คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายรชต หรือ กบ วงค์ยอด อายุ 29 ปี และ นายยงยุทธ ท้วมมี แนวร่วม นปช.ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-19 ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก, ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
      
       ตามฟ้องโจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.53 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมดกับพวกที่ยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกับ พล.ต.ขัตติยะ ซึ่งถึงแก่ความตายกระทำความผิดกฎหมาย กล่าวคือ นายวีระ จำเลยที่ 1-จำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นแกนนำ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทยให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่า นายอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯโดยมิชอบ และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงสี่แยกมิสกวัน และถนนพิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชษฐ ถึงสี่แยกวังแดง และแยกราชประสงค์ มีการเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐสภา กรมการทหารราบที่ 11 และบ้านพักของ นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี และมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน
      
       จำเลยกับพวกยังได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคน และฝึกการใช้อาวุธใช้ชื่อกลุ่มนักรบพระเจ้าตาก กลุ่มนักรบโรนิน และกลุ่มนักรบพระองค์ดำ เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนในกรุงเทพแบบดาวกระจาย ประมาณ 1 หมื่นคันเศษ เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน พวกจำเลย และกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ใช้เลือดจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักนายกรัฐมนตรี และมีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กองรักษาการณ์ของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย มีทหารได้รับบาดเจ็บ ใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงใส่กระทรวงกลาโหม ขว้างระเบิดใส่กรมบังคับคดี, อาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยิงปืนใส่ธนาคารกรุงเทพ ขว้างระเบิดใส่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการต่างๆ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและผู้อื่น เพื่อบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง
      
       การกระทำของจำเลยกับพวกในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วงรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ เป็นการกีดกั้น กีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคม ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ที่สำคัญ เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ม.34 และ 36

 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามความใน ม.5 และ 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันเกิน 5 คน ขึ้นไป หรือกระทำการอันใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, กีดขวางการจราจร, ปิดทางเข้าออกอาคารหรือสถานที่อันเป็นการขัดขวางการปฎิบัติงาน หรือประกอบกิจการหรือการใช้ชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชนทั่วไป, ประทุษร้าย หรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายเกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินโดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรม ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ทำการรัฐสภาทำร้ายร่างกายทหารและแย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ไป 1 กระบอก, บุกรุกไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
      
       ต่อมาวันที่ 10 เม.ย.53 จำเลยกับพวกและผู้ชุมนุม ได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฎิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอเพื่อที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่ทหารประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากนั้น มีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อต้องการให้ไฟฟ้าดับทั่วกรุงเทพฯ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
      
       ต่อมาวันที่ 14 เม.ย.จำเลยกับพวกได้ไปร่วมตัวชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปิดเส้นทางการจราจร สร้างเครื่องกีดขวางรอบพื้นที่ชุมนุม โดยดัดแปลงใช้ไม้ไผ่ ไม้ปลายแหลม ยางรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกศาลาแดง แยกหลังสวน แยกเพลินจิต แยกชิดลม แยกประตูน้ำ แยกปทุมวัน และแยกเฉลิมเผ่า มีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสีลม และสาขาอื่นๆ และสถานที่ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจ วันที่ 28 เม.ย.จำเลยกับพวกยุยงให้ผู้ชุมนุมไปที่ตลาดไท และได้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน และสนามบินดอนเมือง ใช้อาวุธยิงทหารเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 2 คน มีผู้อื่นบาดเจ็บอีก 16 คน และในต่างจังหวัดได้ทำการปิดถนนตั้งด่านตรวจพาหนะ บังคับให้ขบวนรถไฟที่บรรทุกยุทธภัณฑ์ทางทหารไม่ให้เดินทางต่อ วันที่ 29 เม.ย. จำเลยกับพวกยังได้นำผู้ชุมนุม 200 คน ไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อ้างว่ามีทหารแอบซ่อนตัวอยู่ ทำให้แพทย์ พยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้
      
       การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยมิชอบ มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดการเข้าใจผิดเพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
      
       เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.รัฐบาลได้ดำเนินการกระชับพื้นที่ และกดดันให้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกมีการสะสมกำลังพลและมีอาวุธสงครามร้ายแรงต่อสู้ขัดขวางใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน และวางเพลิงเผาทรัพย์สินของรัฐและเอกชน เผาห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ต่างๆทั่วกรุงเทพ เผาศาลากลางและสถานที่ราชการต่างจังหวัดหลายแห่ง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน กระสุน และวัตถุระเบิดซึ่งเป็นของจำเลยกับพวกได้หลายรายการ ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
      
       โดยศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2542/2553 และจะออกหมายเรียก นายวีระ, นายจตุพร และ นายการุณ ที่ได้รับการประกันตัวให้มาศาล พร้อมกับเบิกตัวจำเลยที่เหลือซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาสอบคำให้การในวันที่ 16 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, นายอดิศร เพียงเกษ, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ และ นายพายัพ ปั้นเกตุ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายอีก 6 คนนั้น อัยการมีคำสั่งฟ้องไว้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากยังผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับ ยังไม่ได้ตัวมา อัยการจึงยังไม่สามารถยื่นฟ้องได้ แต่ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปดำเนินการติดตามจับกุมตัวมาส่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในภายหลัง
      
       วันเดียวกัน พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 41 ปี อดีต ส.ข.เขตบางบอน พรรคไทยรักไทย แนวร่วม นปช.เป็นจำเลยฐานความผิด ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐูธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
      
       คำฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 เม.ย.-10 เม.ย.53 ทั้งกลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกัน ภายหลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กทม. จำเลยกับพวกซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกันที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศและเวทีราชประสงค์ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสาธารณะ โดยจำเลยและพวกผลัดเปลี่ยนกัน ขึ้นพูดปราศรัยบนเวที ปลุกปั่น ยุยงส่งเสริมให้กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากก่อเหตุ ก่อความวุ่นวาย จึงฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังกล่าวที่ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วจำเลยกับพวกได้ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานและประทุษร้ายโดยใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งไปรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นการกีดขวางการจราจรบริเวณดังกล่าวและกีดขวางการเข้าออกอาคารสถานที่ ขัดขวางการปฏิบัติงานการประกอบกิจการงาน การใช้ชีวิตอันปกติสุขของประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและเกรงกลัวต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตร่างกายทรัพย์สิน และต่อมาศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดำเนินการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินทั้งหมดคืนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช.จำเลยกับพวกมีอาวุธ เป็นเครื่องกระสุน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊ก ได้ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของทหารและตำรวจ ทำการยึดรถและอุปกรณ์ที่ใช้ปราบจลาจลของทางราชการและใช้กำลังประทุษร้ายกันหลายจุด เป็นเหตุให้ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ

 

ติดตามข่าว >> ขวัญชัย << เพิ่มเติมได้ที่นี่