ถ้าชัดจะไม่สับสน!!! ย้อนทวนจุดยืน"นายกฯตู่" กรณี"สมเด็จช่วง"ถ้าไม่พ้นมลทินก็ทูลเกล้าเป็นสังฆราชไม่ได้??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

      หนึ่งประเด็นร้อนในวงการสงฆ์นับจากนี้อีกหนึ่งปมประเด็นก็คือการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา  ยืนยันว่าได้พิจารณามาตรา 7 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535  ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นและส่งหนังสือมายังรัฐบาล เพื่อสอบถามว่ามติที่ประชุมมหาเถรสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระสังฆราชขัดกับมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์หรือไม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ???

 

      เพราะกรณีนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรในมุมมองของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คือมิติของความขัดแย้งทั้งสิ้น  ทั้งกับกรณีที่ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นด้วยกับการแนวทางแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชโดยยึดตามมติมส.หรือมีข้อสรุปว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะมีอีกฝ่ายออกมาคัดค้าน  ???

 

      กับมุมมองดังกล่าว สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม  ผู้อำนวยการสนข.ทีนิวส์  ให้ความเห็นว่า  ถึงแม้   นายดิสทัต โหตระกิตย์  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา     ยืนยันว่าเรื่องนี้มีการพิจารณากันเสร็จสิ้นแล้ว และจะส่งเรื่องไปให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวัฒนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้เปิดเผยรายละเอียดต่อไป   เพราะในฐานะของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่สามารถเปิดเผยได้  แต่เชื่อว่าคำตอบนั้น น่าจะเป็นทางออกให้กับสังคม ...แท้จริงแล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น !!! 

     ในทางตรงข้ามโดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานำเสนอนั้นเป็นเรื่องที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้   ถ้าไม่มีคำอธิบายอย่างถูกต้องเข้าใจแก่ผู้รับสารอย่างครบถ้วน  เพราะกรณีนี้จุดหลักใจความไม่ได้อยู่แค่ใครจะมีอำนาจหน้าที่เสนอชื่อว่าที่สมเด็จพระสังฆราช ระหว่างมส.หรือนายกรัฐมนตรี  เพราะกรณีของสมเด็จช่วงวันนี้ประเด็นปัญหาอยู่ที่คดีความเบนซ์ฉาวซึ่งติดตัวสมเด็จช่วง     มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.

 

     และถ้าจะให้ยิ่งชัดก็ต้องย้อนกลับไปดูท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์  ซึ่งไม่เคยตั้งแง่จะเป็นผู้มีอำนาจเสนอชื่อพระสังฆราชให้เกิดข้อขัดแย้งใด ๆ หรือแม้แต่แสดงความเห็นในเชิงคัดค้านสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรา 7  ว่าด้วยเนื้อสาระที่กำหนดไว้ดังนี้

 

       “   มาตรา 7  พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง   ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง  ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ  เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

                    

     ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ  และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

 

     ในทางตรงข้ามหลักใหญ่ใจความที่ถือเป็นจุดยืนของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือ  สิ่งที่พูดมาตั้งแต่ต้น  “การเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ผิดขั้นตอนว่า ผิดถูกอย่างไรตนไม่ทราบ เรื่องดังกล่าวเป็นการตีความด้านกฎหมายต้องศึกษาดูก่อน ตนยังไม่เห็นหนังสือจากผู้ตรวจฯ รวมทั้งยังไม่เห็นหนังสือเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่จาก มส.หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพราะขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง ต้องคำนึงถึงกฎหมายของประเทศ ไม่ใช่นำกฎหมายฉบับต่างๆมาตีกันไปมา คนในประเทศไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือพระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย วันนี้ความขัดแย้งค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อใครส่งความเห็นมา เราก็พิจารณาแล้วส่งฝ่ายกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ ทุกอย่างไม่อยากให้มองว่าเป็นธรรมหรือไม่ แต่ต้องมองว่าทำถูกกฎหมายหรือไม่ ในเมื่อมีคนร้องเรียนต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งต้องดูเป็นคดีๆไป อย่ากล่าวอ้างว่าทำคดีหนึ่งเพื่อให้คดีหนึ่งถูกต้องหรือไม่ถูกต้องเพราะถือเป็นคนละเรื่อง”

 

      พล.อ.ประยุทธ์ ขยายความให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ  เมื่อถูกถามว่าการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ต้องรอให้คดีความต่างๆเรียบร้อยก่อนใช่หรือไม่ ??

 

       “ควรจะเป็นอย่างนั้นมั้ย ก็เหมือนกับการตั้งทหาร ตำรวจ ถ้าตั้งคนที่ไม่ได้รับความเห็นชอบร่วมกัน มีคดีความก็ตั้งไม่ได้ อย่างไรก็ตั้งไม่ได้ ไม่ใช่ว่าคนนี้จะถูกปลดอยู่แล้วเลยต้องตั้งตามนั้น ไม่ใช่ เพราะต้องตรวจสอบว่ามันใช่หรือไม่ใช่ วันนี้ทุกกระทรวงเสนอคนเข้ามาผมยังตรวจสอบเลย ถ้าผมเช็กแล้วคนนี้เป็นอย่างนี้ก็ส่งกลับไป มันตั้งให้ไม่ได้ เขาต้องไปเคลียร์ตัวเขามาสิ ผมยังไม่ได้ว่าใครผิดใครถูกทั้งสิ้น เป็นเรื่องของกฎหมาย กฎหมายเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกตัดสินกันเอง ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ไปกันใหญ่ก็ไม่จบสักเรื่อง หลายคนบอกว่าบ้านเมืองสงบแล้ว แล้วสงบหรือยัง คิดว่าจะแก้กันเมื่อไหร่รัฐบาลหน้าทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะทุกวันนี้ทุกคนเอามาตีกันหมดทั้งการเมือง ประชามติ รัฐธรรมนูญ อนาคตปฏิรูปการศึกษา มันได้ไหมเล่า มันเกิดมากี่ปีแล้ว ปัญหาหลายปัญหา”

 

      โดยบริบทของคำตอบในคำถามนี้ แปลความก็คือข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่ประเด็นปัญหาในมุมมองของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ข้อกล่าวหาต่อสมเด็จช่วงต่างหากที่พล.อ.ประยุทธ์ยึดถือเป็นหลักการจะพิจารณาว่าสมควรจะทูลเกล้าชื่อพระเถระรูปใดเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่  ไม่ใช้กระบวนการตีความว่าใคร ผู้ใด คือผู้มีอำนาจเสนอชื่อว่าที่พระสังฆราชที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม  แต่แท้จริงแล้วนั่นน่าจะกลายเป็นปมความขัดแย้งปมใหม่มากกว่าถ้าเร่งรีบ เร่งร้อนจนขาดความรอบคอบ ???