"วิษณุ"เมินตอบปมชง"สมเด็จช่วง"ขึ้นแท่น"สังฆราช"แย้มไม่จำเป็นต้องยึด"กฤษฎีกา"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่www.tnews.co.th

"วิษณุ" ยังไม่ทราบผลกฤษฎีกาตีความ ปมตั้งสังฆราช อ้ำอึ้ง ปัดตอบ โดยเฉพาะ กรณี การ นำชื่อ "สมเด็จช่วง" ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องรอเคลียร์คดี"รถหรู" ก่อนหรือไม่ ? แย้มรบ.ไม่จำเป็นต้องยึด กฤษฎีกา ก็ได้
 

      วันนี้ (8ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เสร็จเรียบร้อยแล้วว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่าผลเป็นอย่างไร เพราะหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติแล้วจะทำบันทึกส่งมาที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ขอความเห็นไป หลังจากนั้นจะรายงานมาที่ตน รวมถึงแจ้งผลไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) แต่ไม่ต้องนำเข้าครม. อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า ประเด็นที่ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในครั้งนี้คือ มาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ วรรคสอง ว่าแปลว่าอะไร การที่จะริเริ่มเอาเรื่องแต่งตั้งพระสังฆราชขึ้นมา มส.สามารถริเริ่มเอง หรือต้องรอให้รัฐบาลขอไปก่อน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาเฉพาะประเด็นนี้ ไม่ได้มีเรื่องที่ให้แก้มาตรา 7 แต่อย่างใด ตนจึงรู้สึกประหลาดใจกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้ไขมาตรา 7 เพราะรัฐบาลไม่มีความคิดในการแก้ไข

     ต่อข้อถามว่า ถ้าบรรยากาศยังไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รัฐบาลสามารถขยายเวลาออกไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่จะตรวจสอบและดูจังหวะเวลา ขอชี้แจงว่าก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาลไม่ได้มีความสงสัยอะไรในเรื่องนี้ แต่มีอำนาจในการที่จะดูให้ถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น ซึ่งคำถามดังกล่าวมาจากการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งมาที่รัฐบาล
         
     ส่วนหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชต้องเริ่มต้นที่นายกฯ การเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จะต้องเริ่มใหม่ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ตอบ เอาไว้ให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร รัฐบาลทราบว่าต้องทำอย่างไร  ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาหลักปฏิบัติของรัฐบาลคือต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มติครม.มีว่าโดยทั่วไปให้ส่วนราชการนั้นปฏิบัติตาม ถ้าจะไม่ปฏิบัติตามเคยเห็นเหมือนกันคือ ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เคยหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เมื่อมีความเห็นตอบมา แต่รัฐบาลมองว่าการทำตามอาจทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่น จึงนำเข้าที่ประชุมครม.และมีมติว่ายังไม่ต้องดำเนินการตาม

      เมื่อถามอีกว่า หากไม่มีการร้องให้ตีความมาตรา 7 รัฐบาลพร้อมเดินหน้าแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีคำตอบว่าพร้อมหรือไม่พร้อม แต่เอาเป็นว่าขณะนี้ชื่อมาอยู่ที่รัฐบาล จะอย่างไรรัฐบาลรู้จังหวะเวลาตรงนี้ แต่เมื่อเกิดความสงสัยจากผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องตอบให้เขา และ เมื่อถามย้ำว่า การที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ มีคดีเรื่องรถหรูในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะยังไม่ทูลเกล้าฯ จนกว่าคดีจะจบ รองนายกฯ กล่าวว่า ขอไม่ตอบในส่วนนี้ เพราะตนไม่ทราบว่ารัฐบาลจะเอาหลักเกณฑ์อะไรขึ้นมาพิจารณา