จีน  ฟิลิปปินส์ พร้อมจัดสรรประโยชน์ พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

จีน ฟิลิปปินส์ พร้อมจัดสรรประโยชน์ พื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

จีนได้เริ่มต้นการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ก่อนหน้าการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เกี่ยวกับข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์ เหนือน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้กองทัพเรือทำการ “ฝึกซ้อมสู้รบ” ด้วย “ขีปนาวุธจริง” ระหว่างหมู่เกาะพาราเซล และ เกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน

 

สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการเผยแพร่ภาพเครื่องบินขับไล่ และเรือขณะยิงขีปนาวุธ รวมถึงภาพเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน และเรือดำน้ำโผล่ขึ้นผิวน้ำการซ้อมรบครั้งนี้มุ่งเน้นที่ปฏิบัติการควบคุมทางอากาศ การสู้รบทางทะเล และการรบต่อต้านเรือดำน้ำการซ้อมรบครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก จะทำการตัดสินข้อพิพาททางอาณาเขตระหว่างฟิลิปปินส์ และ จีน ในวันอังคาร 12 กรกฎาคม นี้
 

จีนอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ทับซ้อนกับการอ้างสิทธิจากเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ และ เวียดนามเพื่อเสริมน้ำหนักของการอ้างสิทธิ์ จีนได้แปรสภาพแนวปะการังหลายแห่งเป็นเกาะเทียมที่สามารถรองรับเครื่องบินทางทหารได้
 

ฟิลิปปินส์ ยื่นฟ้องต่อจีน ในปี 2013 คัดค้านการอ้างสิทธิของจีนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของน่านน้ำแห่งนี้ และระบุว่า มันเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเลแห่งสหประชาชาติ (UN Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ที่ทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่สัญญา  จีนไม่ยอมรับการพิจารณาคดีดังกล่าว และระบุว่า ศาลไม่มีอำนาจในประเด็นนี้ และว่า พวกเขาจะเพิกเฉยต่อคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น ฟิลิปปินส์ระบุว่า พวกเขายินดีที่จะแบ่งปันทรัพยากรทางธรรมชาติ กับจีน ในพื้นที่พิพาทนี้ แม้ว่าพวกเขาจะชนะคดีในสัปดาห์หน้าก็ตาม
 

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพอร์เฟกโต ยาเซย์ บอกกับเอเอฟพี ว่า คณะบริหารของประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต ต้องการที่จะเริ่มการเจรจาโดยตรงกับจีนทันทีภายหลังการตัดสินในวันนี้ เขากล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวอาจครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแก๊สธรรมชาติ และพื้นที่ประมงร่วมกัน ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์

 

รัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ดำเนินการเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ 2 อย่างด้วยกัน ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ จะประกาศคำตัดสินว่าด้วยการอ้างกรรมสิทธิ์แข่งขันทับซ้อนกันเหนือทะเลจีนใต้ที่มีความสำคัญมากในทางยุทธศาสตร์
 

รัฐมนตรีต่างประเทศ เปอร์เฟคโต ยาซาย จูเนียร์ (Perfecto Yasay Jr.) แถลงว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะแต่งตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นมาคนหนึ่ง เพื่อให้ทำหน้าที่เจรจาหารือกับจีนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายความตึงเครียดในเขตน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์ กับจีน พิพาทกันอยู่
 

ยาซาย อดีตทนายความระหว่างประเทศซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ และอาจารย์ที่รัฐฮาวาย (รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ –ผู้แปล) แถลงว่าในท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องแต่งตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทเหล่านี้
 

เขาพูดอย่างอ้อมๆ ด้วยว่า ถ้าผลการตัดสินของศาลอนุญาโตระหว่างประเทศที่ได้รับการหนุนหลังจากสหประชาชาติแห่งนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับจีนและฟิลิปปินส์เท่านั้นแล้ว ฟิลิปปินส์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาระดับทวิภาคีกับฝ่ายจีน

รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังจะขอให้สมาคมประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ อาเซียน) ประกาศจุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นการบีบคั้นกดดันจีนให้เคารพปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร
       
จีนนั้นมีฐานะเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน โดยตามหลังสหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, และสหรัฐฯ มูลค่าของการค้าจีน-อาเซียนอยู่ในระดับประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์
       
ประธานาธิบดีดูเตอร์เต เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การที่จะทำสงครามกับจีนนั้น ถือเป็นการเดินหมากที่ไร้ประโยชน์ ตรงกันข้าม เขาต้องการให้จีนมาช่วยสร้างระบบทางรถไฟขึ้นบนเกาะมินดาเนา เกาะใหญ่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์
       
ทางด้าน ดร.เอเดียน เซมอร์ลัน (Dr. AdianSemorlan) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเอเชีย ให้ความเห็นกับเอเชียไทมส์ว่า ดูเตอร์เตนั้นไม่ได้มองจีนว่าเป็นศัตรู ทว่าเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในเอเชียที่จะช่วยเหลือการพัฒนาของฟิลิปปินส์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในเกาะมินดาเนา ซึ่งก็เป็นถิ่นฐานภูมิลำเนาของประธานาธิบดีดูเตอร์เตเองด้วย
       
สำหรับกองทัพฟิลิปปินส์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทรัพย์สินทางทหารที่ล้าสมัยที่สุดในภูมิภาคแถบนี้ และจมถลำอยู่ในข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ ซึ่งโยงใยพัวพันนายทหารระดับสูงกับพวกบริษัทขายอาวุธยุทโธปกรณ์
       
กองทัพฟิลิปปินส์ยังกำลังเผชิญงานหนักอึ้งในการยุติการสู้รบขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธกับกลุ่มอิสลามิสต์หลายๆ กลุ่มในบริเวณภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ตลอดจนกับ “กองทัพประชนชนใหม่” (New People’s Army) ที่เป็นกลุ่มฝ่ายซ้าย
       
ระหว่างกล่าวปราศรัยกับทหารเนื่องในวาระครบรอบ 69 ปีของการสถาปนากองทัพฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เตได้กล่าวเรียกร้องให้จีนมาเริ่มต้นเจรจาหารือกัน

 

“เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ของ ดูเตอร์เต แล้ว เขามีความต้องการที่จะริเริ่มเปิดฉากทำการสนทนาแบบทวิภาคีกับฝ่ายจีน” เซมอร์ลัน พูดย้ำ
 

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ก่อนที่ดูเตอร์เตจะเข้ารับตำแหน่งด้วยซ้ำ จีนก็แสดงท่าทีอ้อมๆ ว่าปรารถนาที่จะขยายไมตรีจิตมิตรภาพกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เจ้า เจี้ยนหวา (Zhao Jianhua) เอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ ได้เข้าเยี่ยมคำนับดูเตอร์เต เมื่อปรากฏว่าเขาเป็นฝ่ายนำแบบขาดลอยในการนับคะแนนผลการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประมุขแดนตากาล็อก ภายหลังการหย่อนบัตรเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมผ่านพ้นไปได้ 2 สัปดาห์
 

ระหว่างการไปเยี่ยมคำนับคราวนั้น เอกอัครราชทูตเจ้าได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี กับทางคณะบริหารดูเตอร์เต
      

ในอีกด้านหนึ่ง ระหว่างรอคอยเวลาที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะประกาศคำตัดสิน รัฐบาลสหรัฐฯก็กำลังดำเนินการเรื่องการจัดตั้งสถานที่ทางทหาร 6 แห่งขึ้นในฟิลิปปินส์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement) ระหว่างประเทศทั้งสอง
 

ถึงแม้พวกนักวิเคราะห์ต่างมองว่าสถานที่ทางทหารเหล่านี้ที่ตกลงกันไว้ระหว่างสหรัฐฯกับคณะบริหารของประธานาธิบดีเบนีโญอากีโน ซึ่งเพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งไป คือความเคลื่อนไหวที่มุ่งต่อต้านจีน ทว่าสหรัฐฯก็ปฏิเสธเรื่อยมาในหลายๆ โอกาสว่าไม่เป็นความจริง
       
ความเคลื่อนไหวในเรื่องสถานที่ทางทหารเหล่านี้ ได้เป็นชนวนทำให้เกิดการประท้วงคัดค้านจากพวกองค์กรนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและองค์กรระดับรากหญ้า ในหลายๆ ส่วนของประเทศ
       
กฎหมายของฟิลิปปินส์นั้นไม่อนุญาตให้มีฐานทัพทางทหารของต่างชาติในดินแดนของฟิลิปปินส์

 

วันนี้เป็นวันที่จะมีคำตัดสินกรณีพิพาทดังกล่าวขึ้นมา แต่ดูจากท่าทีของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะออกมาอย่างไร ก็คงไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะดูแล้วว่า ทั้งสองประเทศในขณะนี้ ยินดีที่จะเจรจา พูดคุยในการหาทางออกและ การที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ร่วมของสองประเทศ และจัดสรรประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวต่อไป