เหตุใดศาลโลก จึงโน้มเอียงตามข้อมูลฟิลิปปินส์ (มีคลิป)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ “จะยิ่งกระตุ้นความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้า” ระหว่างรัฐ เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าวเตือนกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

ชุ่ย เทียนข่ายเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้กล่าวในเวทีเสวนาระหว่างประเทศว่า จีนยังคงยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเจรจากับรัฐคู่กรณีเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก

 

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้มีคำพิพากษาว่า จีนกำลังละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์ด้วยการแทรกแซงขัดขวางการทำประมงตามประเพณี รวมถึงโครงการขุดเจาะน้ำมันของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้

 

ชุ่ย กล่าวโทษยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” (pivot) ของสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ร้อนระอุหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรณีนี้ก็จะยิ่ง “เปิดโอกาสให้เกิดการบั่นทอนกระบวนการตัดสินชี้ขาด”

     

 “แน่นอนว่าคำพิพากษาของศาลในกรณีนี้จะทำให้รัฐต่างๆ หมดกำลังใจที่จะเจรจาและปรึกษาหารือกันเพื่อยุติความขัดแย้ง”ชุ่ย ระบุ

 

 “มันจะยิ่งกระตุ้นความขัดแย้ง และก่อให้เกิดการเผชิญหน้า”

 

รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวนของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร และวิจารณ์ว่าเป็นแค่ “ละครตลก” ฉากหนึ่ง ขณะที่นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเอเชียเตือนว่า จีนเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หากยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้าวและเพิกเฉยต่อคำตัดสินนี้

ด้านสหรัฐฯ ซึ่งถูกจีนกล่าวหาว่าพยายามปลุกปั่นข้อพิพาท และขยายอิทธิพลทางทหารด้วยการส่งเรือออกตรวจการณ์และจัดการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ ระบุว่า คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลากรถาวรถือเป็นที่สุด และมีผลบังคับ

 “สหรัฐฯ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่านำประเด็นนี้มาเป็นโอกาสกระทำการยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น” จอชเออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงต่อสื่อมวลชน

 

คำพิพากษาของศาลคราวนี้นับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการร้องขอให้ศาลระหว่างประเทศเข้ามาชี้ขาดปัญหาทะเลจีนใต้ และแม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจะไม่มีอำนาจบังคับให้จีนต้องกระทำการอย่างใด แต่ก็ยังถือเป็น “ชัยชนะ” สำหรับฟิลิปปินส์ผู้เป็นโจทก์ฟ้อง และอาจกรุยทางให้ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งอ้างกรรมสิทธ์ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีนอยู่ ลุกขึ้นมาใช้กฎหมายเล่นงานจีนบ้าง

กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินคราวนี้ โดยบอกว่าประชาชนของตนมีประวัติศาสตร์อยู่ในทะเลจีนใต้มานานกว่า 2,000 ปี และเกาะต่างๆ ของจีนก็มีสิทธิที่จะอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อีกทั้งแดนมังกรได้ประกาศต่อโลกให้ทราบถึง “แผนที่เส้นประ” ของตนมาตั้งแต่ปี 1948 แล้ว

 

เอกอัครราชทูตจีนได้กล่าวในเวทีเสวนาของศูนย์ยุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ว่า ปักกิ่ง “จะทำทุกวิถีทางเพื่อรับรองว่าการค้าทางทะเลจะดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรค และจะสกัดกั้นการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค”

 

ด้านฟิลิปปินส์ระบุว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาคำพิพากษาของศาล และรัฐมนตรีต่างประเทศ เปอร์เฟ็กโต ยาซาย ก็ได้เรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนอดกลั้น และความสุขุม”

 

จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐพบเห็นสัญญาณกิจกรรมทางทหารของจีนอย่างต่อเนื่องในทะเลจีนใต้ ขณะที่แดเนียลคริเตนบริงก์ที่ปรึกษาด้านนโยบายเอเชียของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่เคยมีเจตนาโหมไฟพิพาทในทะเลจีนใต้เพื่อสร้างบริบทในการขยายอิทธิพล

     

 

 “เราปรารถนาที่จะเห็นข้อพิพาทดินแดนและน่านน้ำในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงทะเลจีนใต้ ได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี โดยปราศจากการข่มขู่ และเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” คริเตนบริงก์ กล่าวในเวทีเสวนาของ CSIS

 

ด้านออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรของอเมริกา ได้ออกมาเตือนให้คู่กรณีทุกฝ่าย “หลีกเลี่ยงการกระทำฝ่ายเดียว”

 

 “ออสเตรเลียจะรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเดินเรือและสัญจรทางอากาศตามที่กฎหมายระหว่างประเทศระบุ และขอสนับสนุนสิทธิของประเทศอื่นๆ ที่จะกระทำอย่างเดียวกัน” จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนจิงโจ้ ระบุในคำแถลง

 

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศชี้ว่า คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรถือเป็นการกระหน่ำตีข้ออ้างของจีนซึ่งระบุว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และยังทำให้สหรัฐ จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวมาสู่ “ทางแยก” ที่อันตราย

 

 “นี่ถือเป็นชัยชนะทางยุทธวิธีสำหรับฟิลิปปินส์ แต่เป็นความพ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ”คาส ฟรีแมน อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นล่ามให้ประธานาธิบดี ริชาร์ดนิกสัน ตอนไปเยือนจีนเมื่อปี 1972 ระบุ

 

 “คำตัดสินคราวนี้ทำให้ปัญหาทะเลจีนใต้ตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากใช้กำลังเท่านั้น ไม่มีกระบวนการเจรจาทางการทูตเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และตอนนี้ก็ไม่มีกระบวนการทางกฎหมายอีกแล้ว”ฟรีแมน กล่าว

จูเลีย กุ้ยฟาง เสวีย (Julia GuifangXue) อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ชี้ว่า รัฐบาลจีค่อนข้างอ่อนไหวกับประเด็นเรื่องอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ“ดังนั้น เราคงไม่ต้องแปลกใจ หากได้เห็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่ดังกล่าว”

 

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยแสดงความกังวลว่า จีนอาจตอบโต้คำพิพากษาของศาลด้วยการประกาศเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือทะเลจีนใต้ อย่างที่เคยทำมาแล้วกับทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013 หรือไม่ก็อาจเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภค และเสริมกำลังป้องกันเกาะเทียม

 

บัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ วิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้วิธีเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาท “อย่างสันติและด้วยวิถีทางที่เป็นมิตร โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรและพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ชาติเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน รวมถึงไต้หวัน ก็อ้างสิทธิอยู่บางส่วนเช่นเดียวกัน

 

ในการพิจารณาคำฟ้องรวม 15 ประเด็นของฝ่ายฟิลิปปินส์คณะผู้พิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรวินิจฉัยว่า การที่จีนอ้างสิทธิต่างๆ ตามประวัติศาสตร์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของทรัพยากรภายในอาณาบริเวณที่เรียกกันว่า “แนวแผนที่เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 90% ของทะเลจีนใต้นั้น ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับเลย

 

ศาลยังวินิจฉัยอีกด้วยว่าไม่มีแนวปะการังหรือแผ่นดินว่างเปล่าแห่งใดเลยในหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งจีนควบคุมอยู่ สามารถนิยามได้ว่าเป็น “เกาะ” ซึ่งจะทำให้ได้พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ตามที่ฝ่ายจีนกล่าวอ้าง