ประชุมอาเซียนเหลว กัมพูชาวีโต้ งดออกแถลงการณ์ประณามจีน เรื่องทะเลจีนใต้ (มีคลิป)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

บรรดาชาติสมาชิกอาเซียนตกอยู่ในภาวะชะงักงัน เกี่ยวกับวิธีการเผชิญหน้ากับความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ เมื่อแรงกดดันทั้งจากจีน และสหรัฐ ส่งผลผลักดันให้เกิดความแตกร้าวระหว่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้อีกคำรบหนึ่ง ในประเด็นปัญหาความมั่นคงที่ก่อให้เกิดการพิพาทโต้แย้งกันหนักที่สุดภูมิภาคแถบนี้
 

เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนเริ่มการประชุมกันเองที่กรุงเวียงในวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จากนั้นจึงจะตามมาด้วยการประชุมระหว่างอาเซียนกับชาติคู่เจรจาต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) ในวันอังคาร ซึ่งมีชาติต่างๆ เข้าร่วมกว่า 20 ประเทศ
 

การชุมนุมรวมตัวกันในเวียงจันทน์คราวนี้จึงเป็นครั้งแรกที่บรรดาชาติผู้มีบทบาทในภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งจีนและสหรัฐฯด้วย ได้พบปะหารือกันเป็นกลุ่มใหญ่ ภายหลังที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก ประกาศคำตัดสินซึ่งลบล้างข้อกล่าวอ้างสำคัญที่จีนใช้อยู่ในการเข้าครอบครองพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้
       
ภายใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเอง ก็มี 4 รายซึ่งกำลังอ้างกรรมสิทธิ์แข่งกับจีน เหนือพื้นที่หลายส่วนของทะเลที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ และอาเซียนก็อยู่ในอาการแตกแยกอย่างหนักจากประเด็นปัญหานี้

ชาติที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหลื่อมล้ำกับจีน ตลอดจนชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่างกล่าวหาว่าจีนว่ากำลังเร่งผูกพันธมิตรกับสมาชิกอาเซียนรายเล็กๆ อย่างเช่นลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ตลอดจนกัมพูชา ด้วยการให้ความช่วยเหลือและเงินกู้ต่างๆ เพื่อแบ่งแยกอาเซียนที่ครั้งหนึ่งเคยมีความมุ่งมั่นสร้างฉันทามติภายในสมาคม
 

แรงกดดันจากจีนนี้เองถูกประณามกล่าวโทษในเดือนที่แล้วว่าเป็นตัวการทำให้ความไม่ลงรอยกันของอาเซียนปรากฏออกมาให้เห็นอย่างน่าตกใจ เมื่อสมาคมต้องประกาศถอนคำแถลงร่วมของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของพวกตนซึ่งนำออกเผยแพร่โดยมาเลเซียตามที่ได้รับมอบหมาย ภายหลังการประชุมร่วมอาเซียน-จีนในกรุงปักกิ่ง
 

คำแถลงดังกล่าวได้แสดงอาการระวังเตือนภัยต่อกิจกรรมต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้ ในเวลาต่อมากัมพูชากับลาวถูกชี้นิ้วระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวทำให้ต้องมีการถอนคำแถลงร่วมฉบับนี้
 

ความแตกแยกเหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งในนครหลวงเวียงจันทน์คราวนี้ โดยที่บุคคลวงในหลายรายกล่าวหากัมพูชาว่า กำลังสกัดกั้นความพยายามของหลายชาติสมาชิกที่จะบรรจุถ้อยคำแสดงการตอบสนองต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร เอาไว้ในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงสิ้นสุดการประชุมของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
       
“พวกเราจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เสียที” นักการทูตผู้หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการหารือด้วยบอกกับเอเอฟพีในวันอาทิตย์ “ทว่าพวกเรายังไม่สามารถตกลงอะไรกันได้สักอย่าง”
       
ขณะที่นักการทูตอาเซียนอีกผู้หนึ่งเสริมว่า “พวกเรายังคงอยู่ในอาการอับจนชะงักงัน พวกเรายังต้องกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือกันอีก”

ร่างที่ใช้ในการถกเถียงกันของแถลงการณ์ร่วมร่างปัจจุบัน ซึ่งเอเอฟพีได้เห็นเมื่อวันปรากฏว่าในหัวข้อย่อยว่าด้วย “ทะเลจีนใต้” มีแต่ที่ว่างๆ
 

ภาวะทางตันในเวียงจันทน์คราวนี้ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่าจะซ้ำรอยการประชุมซัมมิตอาเซียนในกัมพูชาปี 2012 เมื่อเหล่าชาติสมาชิกถึงขนาดไม่สามารถออกคำแถลงร่วมได้ อันถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสมาคม สืบเนื่องจากความไม่เห็นพ้องกันเกี่ยวกับทะเลจีนใต้นี้เอง

 

คำตัดสินเมื่อต้นเดือนนี้ของคณะอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ซึ่งไม่ได้เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ แต่ได้รับการหนุนหลังจากยูเอ็น และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ได้สร้างความโกรธเกี้ยวให้แก่จีนที่ประกาศตั้งแต่ต้นว่าศาลแห่งนี้ไม่มีอำนาจในการพิจารณาและไม่ยอมรับคำตัดสิน
       

ถือเป็นชัยชนะสำหรับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้องคราวนี้ ตลอดจนสำหรับอีก 3 ชาติอาเซียน คือ เวียดนาม, บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งก็อ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนของทะเลจีนใต้เช่นกัน
       
ภาวะอับจนตกลงกันไม่ได้ของอาเซียน เรื่องวิธีที่จะตอบสนองต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่จีนเพิ่มการแสดงออกทางคำพูด ตลอดจนการจัดซ้อมรบในทะเลจีนใต้ พร้อมๆ กับที่ประณามสหรัฐฯซึ่งหนุนหลังชาติที่อ้างกรรมสิทธิ์แข่งกันจีน ด้วยการให้ความช่วยเหลือปรับปรุงสมรรถนะของกองทัพและหน่วยงานตรวจการณ์ทางเรือ รวมทั้งเพิ่มการส่งเรือรบเข้ามาในทะเลจีน และเข้าเฉียดใกล้พื้นที่ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ โดยระบุว่าเพื่อเป็นการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ

 

รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น แคร์รี ของสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางถึงลาวแต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ซึ่งก็เข้าร่วมการประชุมที่เวียงจันทน์เช่นกัน หรือไม่
 

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้หนึ่งกล่าวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ จะผลักดันอาเซียนให้ผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้และหาจุดที่สามารถเห็นพ้องร่วมกัน
 

ขณะที่ หลิว เจิ้นหมิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวเตือนอาเซียนว่า อย่าได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกมหาอำนาจภายนอก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขากำลังกล่าววิจารณ์สหรัฐ

 

 “พวกเขา (อาเซียน) ควรที่จะต้องคอยระวังป้องกันเป็นพิเศษทีเดียว ต่อการเข้ามาแทรกแซงในความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยฝีมือของพวกมหาอำนาจใหญ่ที่อยู่ภายนอกภูมิภาคนี้” สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานโดยอ้างคำพูดของหลิว
       
ระหว่างกล่าวเปิดการประชุมที่เวียงจันทน์รัฐมนตรีต่างประเทศลาว สะเหลิมไซ กมมะสิด ระบุถึงอุปสรรคเครื่องกีดขวางต่างๆ ที่กำลังเผชิญหน้าอาเซียนอยู่ ว่าประกอบด้วย “ข้อพิพาททางดินแดน, ลัทธิสุดโต่งและลัทธิก่อการร้าย, ความวิบัติหายนะทางธรรมชาติ, การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ... ประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัย”

 

การประชุม ครั้งนี้   เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน หารือกันอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงในการพบปะกันทั้ง 3 รอบ ซึ่งรวมถึงการพูดจากันระหว่างรับประทานอาหารกลางวันด้วย ทว่าก็ยังคงตกอยู่ในภาวะอับจนชะงักงัก โดยที่นักการทูตหลายรายบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เนื่องมาจากกัมพูชาไม่ต้องการให้แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์จีน

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องมีการออกแถลงการณ์ร่วม ทว่าประเด็นที่กลายเป็นปัญหาติดขัดในคราวนี้ก็คือ จะพูดพาดพิงถึงเรื่องทะเลจีนใต้ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตัดสินเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ซึ่งบอกปัดไม่รับฟังข้อกล่าวอ้างสำคัญที่จีนใช้ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนจำนวนมากในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้จีนได้โต้แย้งตั้งแต่ต้นว่าศาลแห่งนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ อีกทั้งปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินด้วยนั่นเอง

 

หลักการข้อสำคัญที่สุดของอาเซียนคือการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นฉันทามติ ซึ่งหมายความว่าชาติสมาชิกรายใดออกเสียงคัดค้านก็เท่ากับใช้อำนาจยับยั้งข้อเสนอนั้นๆ สำหรับคราวนี้ ผู้ที่ใช้อำนาจวีโต้เช่นนี้ได้แก่กัมพูชา

อาเซียนดูเหมือนประสบความล้มเหลว ในการทำความตกลงกันเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งเพิ่งมีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้มีการประชุมหารือทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการรวมอย่างน้อย
3 รอบในวันอาทิตย์