ลุ้นระทึกอีกหนึ่งคดี !!!  ศาลฎีกาฯนัดอ่านคำพิพากษา "ปปช." ฟ้อง "หมอเลี้ยบ" ผิดม.157  ใช้อำนาจรมว.คลังตั้งกรรมการธปท.มิชอบ !!?!!

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

     ถือเป็นอีกหนึ่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในระบอบทักษิณ   ซึ่งถูกกล่าวหากระทำความผิด   สำหรับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง   ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  ตามการยื่นฟ้องโดยปปชช.  กล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดโดยการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  ในการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ธนาคารแห่งประเทศไทย    ซึ่งในเวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้ ( 4 ส.ค.)  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง   ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว

 

     โดยก่อนหน้านี้   ทางด้านองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำ อม.39/2558 ให้ประทับรับฟ้อง คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ หรือ หมอเลี้ยบ สืบวงศ์ลี อายุ 58 ปี อดีต รมว.คลัง สมัยพรรคพลังประชาชน เป็นรัฐบาล เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

      จากกรณีเมื่อปี 2551 ระหว่าง นพ.สุรพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง สมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ได้มีการแต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. โดยมิชอบ ซึ่งภายหลังมีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้วินิจฉัยว่า การคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

     เนื่องจากกรรมการ ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 28/1 และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท. และให้ รมว.คลัง ดำเนินการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.  ซึ่งนพ.สุรพงษ์ดำเนินการต่อสู้คดีและให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

 

    ขณะเดียวกันเมื่อสอบทานย้อนกลับไปพบว่า  เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 นายกรณ์ จาติกวณิช   ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ในฐานะรมว.คลังเงา   พร้อมคณะได้เดินทางไปยื่นเรื่องต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ให้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กรรมการสรรหา บอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย ชุดนี้ประกอบด้วยบุคคลที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท. ว่าด้วยเรื่องการเป็นบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียกับ ธปท. ซึ่งประกอบด้วย นายวิจิตร สุพินิจ, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นาย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ล้วนเป็นประธานกรรมการอยู่ในสถาบันการเงิน ทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นองค์กรภายใต้ ธปท.โดยตรง จึงเชื่อว่าจะส่งผลเสียหายต่อองค์กรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและระบบการ เงินของประเทศ คือ ธปท. และขัดต่อเจตนาของ พ.ร.บ.ธปท. ปี 2551 มาตรา 28/1 ที่ต้องการให้การทำงานของ ธปท.มีอิสระจากการเมือง

 

       กระทั่งต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้วินิจฉัย ว่า การคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 28/1