ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

     คำว่า"สืบทอดอำนาจ"ได้กลับมาเป็นประเด็นและถูกพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อคำถามพ่วงที่ว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรธน.นี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรมต. และกับคำถามพ่วงนี้ได้ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติที่ผ่านมา ก็ย่อมทำใหัสว.มีสิทธิ์ที่จะโหวตเลือกนายกรมต.คนต่อไปร่วมกับสส.

 

     จึงมีการมองต่อไปว่า นี่คือการเปิดทางให้คนนอกซึ่งไม่ได้เป็นสส.และไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งสามารถเข้ามาเป็นนายกรมต.ได้ และยิ่งเกิดกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสปช.ออกมาแถลงตั้งพรรคการเมือง พร้อมประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรมต.เข้าไปอีก โดยให้เหตุผลว่า คำถามพ่วงที่ประชาชนโหวตเห็นชอบกว่า10ล้านเสียงคือการสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรมต.ต่อ และยังไม่เท่านั้น ท่าทีของนายกรมต.ยังแทงกั๊กไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้อย่างชัดเจนทั้งๆ ที่ถูกผู้สื่อข่าวถามประเด็นนี้ถึง2ครั้งว่าจะเป็นนายกรมต.หลังการเลือกตั้งอีกหรือไม่ นายกรมต.มีท่าทีพยายามเลี่ยงที่จะตอบคำถามโดยกล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องของนายไพบูลย์ แล้วแต่ใครจะพูดอะไร ตนไม่รู้ไม่ทราบและไม่ขอตอบเท่านั้น

    

     จากทั้งหมดนี้ จึงทำให้ประเด็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรือการคงอยู่ของคสช.กำลังถูกหยิบจับขึ้นมาพูดและวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามทันทีว่านี่ไงล่ะคือการ สืบทอดอำนาจ และแถมความเป็นไปได้และแนวโน้มกับการเป็นนายกรมต.อีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้กำลังถูกมองว่ามีความเป็นไปได้สูง แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวพล.อ.ประยุทธ์เองว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกลับมานั่งในเก้าอี้นายกรมต.อีกครั้ง กับสถานะรัฐบาลในสังกัดการเมือง