ตามสภาพเลย!! ดร.สามารถแฉรถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนยับวันละ3ล้านจากเหตุผลเดียวจริงๆเส้นทางไม่เชื่อมต่อ??

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th/

 

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ถึงสถานการณ์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ข้อความดังกล่าวระบุว่า รถไฟฟ้าสีม่วงกระอัก ขาดทุนวันละ 3 ล้าน!

 

หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีผู้โดยสารน้อยมาก คือมีเพียงแค่ประมาณวันละ 20,000 คนเท่านั้น ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก กล่าวคือ ปริมาณผู้โดยสารที่ รฟม.คาดการณ์ไว้จะมีวันละ 73,000 คนในปีแรกที่เปิดให้บริการ ดังนั้น ปริมาณผู้โดยสารที่มีจริงคิดเป็น 27% ของปริมาณที่คาดการณ์ไว้เท่านั้น

 

เมื่อมีผู้โดยสารน้อย รายได้จากค่าโดยสารก็น้อยตามด้วย ปรากฏว่า รฟม.มีรายได้จากค่าโดยสารเพียงวันละประมาณ 600,000 บาทเท่านั้น นั่นคือ ผู้โดยสารจ่ายค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 30 บาท

 

สำหรับการบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น รฟม.ต้องจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งรฟม.ตัองเสียค่าบริการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษาให้แก่บีอีเอ็มในปีแรกที่เปิดให้บริการ 1,327.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นวันละประมาณ 3.6 ล้านบาท ค่าจ้างดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อและค่าไฟฟ้า

 

ในขณะที่รฟม.เก็บค่าโดยสารได้วันละ 600,000 บาท แต่ต้องเสียค่าจ้างให้บีอีเอ็มวันละ 3,600,000 บาท ดังนั้น รฟม.จึงต้องแบกภาระขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนักของรฟม.

 

การคิดกำไรขาดทุนดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังไม่รวมค่าก่อสร้างที่มีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท (รวมงานทุกประเภท) ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าการประกอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะไม่สามารถมีรายได้จ่ายค่าก่อสร้างได้ เนื่องจากมีรายได้น้อยมาก น้อยเสียจนไม่พอจ่ายแม้เพียงแค่ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา

  

ด้วยเหตุนี้ รฟม.จะต้องหาหนทางทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นให้ได้ มิฉะนั้น จะต้องแบกภาระการขาดทุนอย่างหนักตลอดไป ผมขอเสนอแนะดังนี้

 

1. เร่งเปิดให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อโดยเร็วที่สุด เพราะจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากกว่าในปัจจุบันที่ต้องใช้บริการถเมล์ ซึ่งมีปัญหารถติดและรถเมล์ขาดช่วง ทำให้ต้องรอรถนาน

 

2. ปรับลดค่าโดยสาร เนื่องจากค่าโดยสารเดินทางเข้าตัวเมืองแพง ผู้โดยสารต้องจ่าย 70 บาทต่อเที่ยว (ในกรณีใช้บัตรเติมเงิน หากไม่ใช้จะต้องจ่าย 84 บาท) ไปกลับวันละ 140 บาท

 

3. ปรับลดค่าจอดรถที่อาคารจอดแล้วจร ปัจจุบันรฟม.คิดค่าจอดรถ 10 บาทต่อ 2 ชั่วโมง หรืออัตรารายเดือนเดือนละ 1,000 บาท หากผู้โดยสารไม่ต้องการจ่ายเป็นรายเดือนจะต้องเสียค่าจอดรถวันละประมาณ 70 บาท เพราะจะต้องจอดรถไว้ที่อาคารจอดแล้วจรวันละประมาณ 12-13 ชั่วโมง

 

4. ร่วมมือกับผู้ประกอบการเดินรถโดยสารในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า ขนผู้โดยสารจากบ้านมาส่งที่สถานี และจากสถานีไปส่งที่ทำงาน

 

5. ควบคุมให้บีอีเอ็มซึ่งเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าดำเนินการเดินรถให้รถเข้าออกสถานีตรงเวลา ไม่จอดแช่ ประตูชานชาลาและประตูรถจะต้องเปิดทุกสถานี และจอดรถตรงตามจุดที่กำหนดให้ผู้โดยสารเข้าออก

 

หากรฟม.เร่งแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ผมมั่นใจว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแน่ครับ