สะเด็ดน้ำ !กรธ. เคาะอีกรอบ "สส.เท่านั้น" เสนอชื่อ ส่วนปม"นายกฯคนนอก"ทำได้ครั้งเดียว ชงศาลรธน.สัปดาห์หน้า

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

โฆษก กรธ. เผย "มีชัย" นำ กรธ.ถกอีกรอบ ก่อนตกผลึกสุดท้าย "ส.ส.เท่านั้น" มีสิทธิ เสนอชื่อนายกฯ โดยยึดตามบัญชีรายชื่อที่ พรรคการเมืองเสนอ  ตาม ม.88 และ 159 ก่อน แต่หากไม่ได้ข้อยุติ ให้ล่าชื่อ 251 เสียงขึ้นไป ประชุม"รัฐสภา" และสามารถเปิดช่อง ชงชื่อ นายกฯคนนอกได้ จ่อ ส่งศาล รธน. ตีความสัปดาห์หน้า

วันนี้( 25 ส.ค.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่าที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย กรธ.ยืนยันตามหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ กำหนดให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น เพราะ ส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ส่วน ส.ว.มีหน้าที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลา 5 ปีตามคำถามพ่วงเท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องยืนยันตามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 88 และ 159 ตามหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.จำนวน 251 คนขึ้นไป ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีฯ "ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก" นายนรชิต กล่าว
         
นายนรชิต กล่าวว่า สาเหตุที่ กรธ.ไม่สนองความต้องการของ สนช.ที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอนายกรัฐมนตรี เพราะตามหลักการสำคัญของมาตรา 159 บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งจะต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้เป็นการชั่วคราว เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบ เพราะเมื่อได้รับการยกเว้นแล้วก็ต้องย้อนกลับไปให้ ส.ส.ดำเนินการต่อไป

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า การนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะสามารถทำได้ครั้งเดียวตามมาตรา 272 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม หลักการเบื้องต้นทั้งหมด กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยให้เหมาะสมอีกครั้ง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งกลับมาให้ กรธ.ปรับแก้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ เพื่อไม่ต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีก