ดับไฟใต้!!"อักษรา"ยันยังไม่มีลงนามTOR เผย"บิ๊กตู่"ขอยุติรุนแรง ถกงวดหน้าวางพื้นที่"เซฟตี้โซน"

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

 "พล.อ.อักษรา" กลับจาก การเจรจาดับไฟใต้แล้ว เผยคุยมาลาปาตานี ยันไม่มีลงนามทีโออาร์ ระบุแค่พูดคุยธุรการ คาดคุย"เซฟตี้โซน"ครั้งหน้า ระบุนายกรัฐมนตรี ฝากให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรง
 

วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังเดินทางกลับจากการพูดคุยกับผู้เห็นต่างที่ประเทศมาเลเซียว่า การเดินทางไปครั้งนี้ ได้พูดคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ซึ่งก็เป็นไปตามการสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุย ที่ไม่ได้หยุดชะงักตามที่มีกระแสข่าวออกมา ตอนนี้อยู่ในระยะการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งทางคณะได้แจ้งว่า การสร้างความไว้วางใจนี้ ไม่ใช่การสร้างความไว้วางใจให้แก่ ปาร์ตี้ A หรือ ปาร์ตี้ B แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
         
พล.อ.อักษรา กล่าวอีกว่า ในวันนี้ไม่มีการลงนาม ทีโออาร์ แต่เป็นเพียงการทำความเข้าใจในเรื่องธุรการ ที่ทางผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซียจัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยว่าแต่ละฝ่ายควรมีกี่คน ภาษาที่ใช้ทางการจะใช้ภาษาไทยหรือภาษามาเล มีล่ามแปลหรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพูดคุย โดยตนขอย้ำว่าไม่ได้มีการลงนามใดๆทั้งสิ้น และในวันนี้คณะพูดคุยฯฝ่ายไทยได้นำข้อห่วงใยของ  นายกรัฐมนตรีที่อยากให้ทุกฝ่ายยุติเหตุรุนแรงในพื้นที่ และ ทางคณะพูดคุยได้สอบถามถึงเหตุความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา เขาก็ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และ ไม่ได้กระทำ รวมถึงเขาก็ยืนยันว่าจะร่วมมือในการดูแลพื้นที่ต่อไป

รวมทั้งมีการยื่นหนังสือจากคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ก็ได้นำข้อห่วงใยและหนังสือดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เห็นต่างปาร์ตี้บี เขาได้รับไปพิจารณาเพื่อการพูดคุยครั้งต่อไปซึ่งตอนนี้ยังไม่กำหนดวันพูดคุยในรอบหน้า อยู่ที่ความพร้อมของทุกฝ่าย แล้วผู้อำนวยความสะดวกจะเป็นผู้กำหนด วันนี้ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย(Safety Zone)ซึ่งอาจจะเป็นหัวข้อที่จะพูดคุยครั้งต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพูดคุยสันติสุขจังหสัดชายแดนใต้ระหว่างไทย และ กลุ่มมาลาปาตานี ได้มีการร่างบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน หรือทีโออาร์ ใน 3 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างองค์กรแต่ละฝ่าย จำนวนสมาชิกของคณะกรรมการพูดคุย แต่ละฝ่าย มีหัวหน้าพูดคุย 1คน กรรมการ 15 คน เจ้าหน้าที่ 2 คน ต่อมาคือ ส่วนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย และภาษาที่ใช้ในการพูดคุยเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลเซีย ทั้งนี้ในการพูดคุยประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยจำนวน9 คน และ ฝ่ายมาลาปาตานีแบ่งเป็น 6 กลุ่ม รวม 12 คน ซึ่งใช้เวลาการพูดคุยตั้งแต่ 08.30 น.-11.00 น. อีกทั้งมีวาระอื่นๆด้วย คือ ให้ทางการมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ทำหน้าที่รักผ่าความปลอดภัยในการพูดคุย และวาระการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย(Safety Zone)