ถึงกับร้อนทั้งพรรค!!!  ก๊วนเพื่อไทยตบเท้ายื่นค้านปปช.ตั้งอนุฯไต่สวนส.ส.ชงร่างพ.ร.บ.นิรโทษ ปี 56  อ้างแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

    ถึงกับกลายเป็นวาระร้อนของพรรคเพื่อไทย   ภายหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงอดีต ส.ส.เพื่อไทย และพรรคการเมืองต่างๆ รวม 40 คน ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน  เมื่อปี 2556 หรือ เรียกว่ากฎหมายนิโทษกรรมสุดซอย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงคำสั่ง ป.ป.ช.ที่ตั้งอนุกรรมการไต่สวน

 

      ล่าสุดนายประเสริฐ  ชัยกิจเด่นนภาลัย  อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย  พร้อมด้วย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่ง   นำรายชื่ออีก 40 รายชื่อ มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอให้มีคำสั่งทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีกล่าวหา นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมกับอดีต ส.ส.อีก 40 ราย   ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน   โดยเห็นว่า เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.และขอให้ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ  เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพวกตน เป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่หน้าที่ของ ป.ป.ช.คือ การตรวจสอบเรื่องทุจริต และร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้น การที่มาก้าวก่ายเรื่องภายในสภาผู้แทนฯ ทำให้พวกตนรู้สึกไม่สบายใจ ทำให้เสื่อมเสียเชื่อเสียง จิตใจล่มสลาย ทั้งที่เป็นผู้แทนจากประชาชน และต่อไปอาจทำให้การเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส.นั้น มีความผิดขึ้นได้

 

    "พวกผมที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เนื่องจากเห็นว่า ขณะนั้นมีความขัดแย้งเยอะ และมีคดีความเกี่ยวกับการเมืองในชั้นศาลเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในฐานะเป็น ส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชน จึงควรช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ และจากการสอบถามทั้งอัยการ ตำรวจ และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ให้ความเห็นตรงกันว่า คดีเหล่านี้มีเยอะและรกศาล จึงดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งเรามีเจตนาบริสุทธิ์ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ไม่ได้มีวาระซ้อนเร้น เราทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ของเรา และขอให้ป.ป.ช.ทบทวนกรอบการทำงานของป.ป.ช.ด้วย"

     ทางด้านนางสุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นหน้าที่และสิทธิโดยชอบธรรมของการทำงานในสภาผู้แทนฯ เป็นไปตามมาตรา 90 และ 142 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติบัญญัติ ส่วนที่กล่าวหาว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการทุจริตก็ไม่เป็นความจริง แต่มุ่งเน้นนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่รวมถึงแกนนำผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยประกาศใช้ในอดีตกว่า 20 ฉบับ ดังนั้น การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เรื่องนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ     ป.ป.ช. และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

      ทั้งนี้การพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯของปปช.เป็นไปตามคำร้องของ   นายบวร ยสินทร   ที่กล่าวหาส.ส.เพื่อไทย   ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา  เป็นการตรากฎหมายโดยมีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลผู้ทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพ้นจากความผิด ซึ่งผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา ย่อมอยู่นอกเหนือเหตุผลความขัดแย้งและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัยเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอยู่แล้ว แต่การที่ร่างฯเหมารวมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนาให้พ้นผิด ย่อมเป็นการตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับผู้ทุจริตโดยเจตนาด้วย จึงเป็นการสมคบกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในการเสนอร่างฯที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้ผลประโยชน์จากร่างฯดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจรัฐและผู้ถูกกล่าวหากับพวกที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว