เจาะลึก!!! ผ่ากลยุทธ์ช่อง "เวิร์คพอยท์" ทำอย่างไรถึงมีเรทติ้งขึ้นอันดับ 3 ไล่บี้ ช่อง 7 และ ช่อง 3

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ปัจจุบันช่องเวิร์คพอยท์มีเรตติ้งเป็นอันดับ 3 โดยล่าสุดเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 1.18 ขณะที่ช่อง 7 อยู่ที่ 2.96 ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ช่อง 3 อยู่ที่ 2.14 เป็นอันดับ 2

เจาะลึก!!! ผ่ากลยุทธ์ช่อง "เวิร์คพอยท์" ทำอย่างไรถึงมีเรทติ้งขึ้นอันดับ 3 ไล่บี้ ช่อง 7 และ ช่อง 3

ปัจจัยที่ทำให้ “ช่องเวิร์คพอยท์” มายืนจุดนี้ได้ มาจาก 4 ส่วนหลัก นั่นคือ
 

1. Positioning ชัดเจน บนจุดแข็ง “รายการวาไรตี้ เอนเตอร์เทนเมนท์” โดยจุดเริ่มต้นของ “เวิร์คพอยท์” มาจากการเป็นผู้ผลิตรายการวาไรตี้ ป้อนให้กับฟรีทีวีช่องต่างๆ จนกลายเป็น “จุดแข็ง” ของเวิร์คพอยท์ โดยหลายรายการสามารถปั้นเป็น “Product Brand” ออกอากาศยาวนาน และมีฐานผู้ชมเหนียวแน่น เช่น ชิงร้อยชิงล้าน ชิงช้าสวรรค์ ระเบิดเถิดเทิง
จนกระทั่ง “เวิร์คพอยท์” มีช่องของตัวเอง ได้นำเอาจุดแข็งดังกล่าวมาเป็นกลยุทธ์สร้างรากฐานให้กับช่อง เพราะการถอนรายการที่ตนเองป้อนให้กับช่องฟรีทีวีเดิม ไปออกอากาศบนช่องเวิร์คพอยท์ ย่อมทำให้ฐานผู้ชมรายการนั้นๆ อยู่เดิมตามมาด้วย ขณะเดียวกันก็สร้าง “รายการใหม่” โดยยังคงโฟกัสที่ “รายการวาไรตี้” เป็นหลัก เพื่อสร้างความแปลกใหม่ แตกต่างให้กับช่อง และสร้างฐานคนดูกลุ่มใหม่
ที่สำคัญ จะสังเกตได้ว่ารายการวาไรตี้ ที่เป็นเรือธงของเวิร์คพอยท์ เน้นความสนุก ทำให้เข้าถึงผู้ชมได้ทุกกลุ่ม (Mass Target) ตั้งแต่กลุ่มเด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการประเภทนี้จะเข้าถึงกลุ่มรากหญ้าได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคสื่อทีวี
นอกจากนี้การวางแผนผลิตรายการวาไรตี้ของเวิร์คพอยท์ ต้องมีรายการที่อยู่ในมือหลายรายการ เตรียมพร้อมที่จะเสียบแทนรายการที่เรตติ้งเริ่มคงที่ และมีแนวโน้มว่าจะลดลง

 

2. สร้าง Personal Brand เป็นโลโก้ช่อง เมื่อเอ่ยถึง “เวิร์คพอยท์” นอกจากรายการวาไรตี้แล้ว สิ่งที่คนนึกถึงตามมา คือ “พิธีกร” หรือ “ผู้ดำเนินรายการ” นำโดย “ปัญญา นิรันดร์กุล” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นพิธีกรรายการปริศนาฟ้าแลบ และชิงร้อยชิงล้าน นอกจากนี้มี 3 พิธีกรหลัก “หม่ำ – เท่ง – โหน่ง” หรือ “แก๊งสามช่า” อยู่คู่กับเวิร์คพอยท์มายาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในโลโก้ช่อง และสะท้อนคาแรกเตอร์ด้าน “ความสนุก” ของช่อง ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 คน นอกจากมีรายการที่จัดร่วมกันแล้ว แต่ละคนยังมีรายการเดี่ยวของตนเอง อีกทั้งยังได้เสริมทัพด้วยการปั้น Personal Brand คนใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ตุ๊กกี้, พัน พลุแตก

3. ขยาย Sub-Brand เพื่อสร้างเซกเมนต์กลุ่มคนดู และ ตรึงคนดูให้อยู่กับรายการ หลังจากที่เวิร์คพอยท์สร้าง Product Brand รายการขึ้นมาแล้ว จากนั้นสักพักจะแตก Sub-Brand ออกมาอีก เพื่อขยายฐานคนดูไปยังเซกเมนต์ต่างๆ เช่น กรณีของ Product Brand รายการ “ไมค์ทองคำ” แตกแบรนด์เป็น ไมค์ทองคำเด็ก, ไมค์ทองคำหมดหนี้, ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่รายการชิงช้าสวรรค์ ขยายแบรนด์ มีทั้งชิงช้าสวรรค์ โอทอป และชิงช้าสวรรค์ คอนเทสต์

4. Branded Content ตอบโจทย์ทั้งช่อง และเจ้าของแบรนด์ การทำ Branded Content เป็นอีกหนึ่งโมเดลของการสร้าง Brand Engagement ให้กับสินค้าและบริการต่างๆ ในมิติที่ลึกกว่า Product Placement และ Tie-in เพราะสามารถสร้าง Win-Win ให้กับทั้งเจ้าของสถานี ที่สร้างรายได้ในการเป็นผู้รับผลิตรายการ และมีรายการมาเติมเต็มช่องให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทำให้เจ้าของแบรนด์ สามารถสื่อสารและนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ไปยังผู้ชม ส่วนผู้ชม ได้รับความบันเทิงจากการชมรายการ
 

ศาสตร์ของการทำ Content รูปแบบนี้ ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการนำเสนอที่สนุก ไม่ยัดเยียดการขายของมากเกินไป เพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากติดตาม โดยที่เจ้าของแบรนด์ และช่องได้ประโยชน์ตามเป้าหมายของตนเอง ซึ่ง “เวิร์คพอยท์” ให้ความสำคัญกับการทำ Branded Content เช่นกัน อย่างรายการที่ประสบความสำเร็จ เช่น SME ตีแตก ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ออกอากาศบนฟรีทีวี จนมาถึงช่องเวิร์คพอยท์