"มีชัย" โอดงานหนัก อยากมีเวลาวันละ 30 ชม. ร่างกม.ลูกให้ทัน โรดแมป แย้ม พรบ.กกต.เสร็จก่อนลำดับแรก

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะ เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คช.) ว่า นายกฯ ได้แสดงความเห็นใจ เพราะกรธ. ทำงานเหนื่อยยาก พร้อมขอให้ กรธ.อดทนเพราะทุกคนต่างโดนเล่นงานกันไม่มากก็น้อย  แต่นายกฯ ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงใดๆ ต่อการทำงาน ทั้งนี้ กรธ.ยังไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในการทำงานแต่อย่างใด แต่หากมีอะไรที่ขาดเหลือก็คงต้องบอกไปยังรัฐบาล
         
“ตอนนี้ กรธ.มีเวลามันน้อย หากมีเวลาสักวันละ 30 ชั่วโมงได้ก็จะดีขึ้น ระหว่างเข้าพบนายกฯ ได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำลังมุ่งหน้าเดินเพื่อให้สอดคล้อกับโรดแมปและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องเร่งทำกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจมีนับ 100 ฉบับ เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องออกกฎหมายจำนวนมาก และกฎหมายบางฉบับกำหนดระยะเวลาค่อนข้างสั้น ดังนั้นต้องทำกันแบบตะลุมบอนทำ ทำให้ทุกฝ่ายมีงานต้องทำกันเยอะ โดยส่วนของรัฐบาลต้องออกกฎหมายมารองรับอีกมาก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ออกกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ในส่วนของการพิจารณากฎหมายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องเป็นผู้พิจารณา โดยต้องดูและทำตามเงื่อนไขใน” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้งานหนักที่สุดจะตกอยู่ที่ใคร นายมีชัย กล่าวว่า ทุกฝ่าย เพราะหน่วยราชการต้องถูกรัฐบาลเร่งรัดเพื่อทำร่างกฎหมายเริ่มต้นให้ทำ รัฐบาลเองก็ต้องมีภาระดูแลให้กฎหมายให้ผ่านไปได้โดยสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ที่จะทำขึ้นในวันข้างหน้า ขณะที่กรธ. มีภาระที่ต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จ ทุกคนวุ่นไปหมดต่อจากนี้ ส่วนการจัดทำกฎหมายลูก กรธ.มีคณะอนุกรรมการฝ่ายยกร่างฯ ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่คิดจะมีการตั้งบุคคลเพื่อให้ทำหน้าที่ กรธ. เพิ่มเติม เพราะเท่าที่ทำอยู่ก็ทำไปได้ ซึ่งตัวคนที่ขาดไม่ใช่ กรธ. แต่เป็นคนที่ทำร่างกฎหมาย

นายมีชัย ยังกล่าวถึงการจัดทำพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กฎหมาย 2 ฉบับต้องทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเขาจะได้ไปเตรียมตัว ดังนั้นพอเขาเห็นกฎหมายพรรคการเมือง และ กฎหมายกกต.แล้ว พรรคการเมืองหากเขาสนใจติดตาม เขาสามารถส่งความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาให้กรธ.ได้ ทั้งนี้ โอกาสที่จะเผยแพร่ของร่างพ.ร.บ.กกต. จะมีมากกว่าพ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งได้วางเป้าหมายทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพราะต้องใช้เวลาพิจารณาในสนช. อีก 70 วัน ถึงจะออกเป็นกฎหมายและลงมือ ดังนั้น ตรงนี้รอนานไม่ได้ กรธ.อาจไม่ได้มีโอกาสฟังความเห็นอย่างทั่วหน้า แต่กรธ.เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ แล้ว สำหรับพรรคการเมือง กรธ.ก็เปิดรับฟังความเห็นในภาคต่างๆ แต่คงไม่ทำในรูปแบบของการเดินสายพบ เพราะไม่รู้ว่าจะไปพบกับใคร