" เจ้าหญิง อาชิ ฯ" แห่งภูฏานทรงเลือกไทยก่อตั้งศูนย์มวลรวมความสุข GNH  แห่งแรก ผสานปรัชญาศก.พอเพียงเน้นสำคัญสร้างสุขยั่งยืนมากกว่าเจริญวัตถุ

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

        เมื่อเร็ว ๆ นี้  เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก พระขนิษฐา พระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่ง ราชอาณาจักรภูฏาน ประธานศูนย์มวลรวมความสุขประชาชาติ ประเทศภูฏาน (GNH) ได้ทรงลงพระนามความร่วมมือ ก่อตั้ง "ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ประเทศไทย" (Gross National Happiness Centre Thailand) ระหว่าง จีเอ็นเอช ภูฏาน และกลุ่มบริษัท บี.กริม โดย นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม

 

       ในการนี้ เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก ประธานศูนย์มวลรวมความสุขประชาชาติ ประเทศภูฏาน (Centre Bhutan : GNH Centre Bhutan) ได้มีพระดำรัสว่า GNH Centre Bhutan ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของ สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก เมื่อปี 1972 ด้วยทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสร้างสภาวะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขของประชาชนชาวภูฏานในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงสืบสานพระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระราชบิดา โดย GNH Centre Bhutan มุ่งเน้นการพัฒนาความสุขให้แก่ประชาชนอย่างรอบด้าน และผสานค่านิยมดังกล่าวไปสู่องค์กรภาคธุรกิจ การที่ค่านิยม "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ถูกเผยแพร่ไปนอกประเทศภูฏานเป็น

 

     “สิ่งที่น่ายินดี ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่อยู่ในใจเนื่องจากมีความใกล้ชิดกัน และกลุ่มบริษัท บี.กริม เองก็เป็นองค์กรธุรกิจที่มีแนวคิดเดียวกันกับ GNH Centre Bhutan ความร่วมมือในการ ก่อตั้ง GNH Centre Thailand จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นเป็นตัวอย่างให้กับชาติอื่นๆ ที่องค์กรธุรกิจหันมาให้ความสนใจในการสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อันเป็นการสร้างความสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน”

    ทางด้าน   นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม กล่าวว่า บี.กริม เป็นองค์กร ธุรกิจที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนานถึง 138 ปี โดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจภายใต้ปรัชญาองค์กร คือการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้กับมนุษยชาติ บี.กริม ไม่ได้มุ่งเน้นผลกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่เราต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยและสร้างความสุขให้กับคนไทยในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น พนักงานในองค์กร หรือลูกค้า

 

     เพราะเราเชื่อว่าถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุขและส่งต่อความสุขผ่านการผลิตสินค้าหรือบริการที่ดีมีคุณภาพไปยังลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็จะมีความสุข ประเทศก็จะมีความสุข นั่นคือผลกำไรที่บี.กริมอยากได้ ซึ่งปรัชญาแนวคิดของ GNH Centre Bhutan นั้นมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณและให้ความสำคัญกับทางสายกลาง เพื่อทำให้เกิดความสมดุลและตอบสนองความต้องการของความเป็นมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของผลิตจากธรรมชาติบนพื้นฐานที่ยั่งยืน

       

       "การลงนามความร่วมมือก่อตั้ง GNH Centre Thailand ระหว่าง บี.กริม และ GNH Centre Bhutan ก็เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และสร้างองค์กรธุรกิจในประเทศไทยให้หันมาให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งจะเป็นการคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอีกทางหนึ่ง"

        

        ขณะที่  ดร.ฮาวิน โต ผู้อำนวยการ GNH Centre Bhutan กล่าวว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) คือ การทำให้เกิดความเท่าเทียมของการพัฒนาควบคู่ไปกับ 4 เสาหลักในการผสมผสานซึ่งกันและกัน ด้วยการสร้างสภาวะให้เกิดความสุข ความเท่าเทียมกัน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสนับสนุนด้านวัฒนธรรม และธรรมาภิบาล

 

      ทั้งนี้ GNH Centre Bhutan ได้ให้การสนับสนุนค่านิยมเหล่านี้ โดยการถ่ายทอดความรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีกว่า และยังรวมไปถึงการรับรู้และการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต GNH Centre Bhutan มีความพยายามที่จะพัฒนาและให้การสนับสนุนวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นองค์รวมในการพัฒนาสังคม เพื่อให้บรรลุความเท่าเทียมระหว่างวัตถุและคุณค่าที่ไม่ใช่ทางวัตถุ และยิ่งไปกว่านั้นคือการจัดลำดับความสำคัญของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกชีวิตบนโลก