หนึ่งไลค์ให้คนนี้!! รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ยืนกรานค้านเอกชนปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิก ชี้ชัดเคยทำอ.พบพระ จ.ตากเสียหายหนัก

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

     จากกรณีนายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวต้านการปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิก เนื่องจากใช้สารเคมีมากจนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นพันธะสัญญาผูดมัดชาวบ้านอีกด้วยนั้น

 

     ล่าสุด นายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาภูทับเบิกถูกโจมตีเรื่องการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระหล่ำปลีซึ่งภูทับเบิกเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทางจังหวัดจึงตั้งใจจะปรับเปลี่ยนให้หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ทดแทน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มต้นและกำลังไปได้ดี โดยมีการสร้างกลุ่มและขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทันไรก็มีบริษัทเอกชนมาติดต่อขอนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อมาปลูกที่ภูทับเบิกซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ที่สำคัญสัญญาที่ทำก็ไม่มีใครเป็นตัวกลางช่วยดูอีก จึงไม่รู้จะผูกมัดชาวบ้านมากมายแค่ไหน ตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างกรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พอเกษตรกรจะขายได้ราคา ทางเอกชนก็นำเข้าข้าวสาลีมาทดแทน ชาวบ้านจึงตกอยู่ในวังวนแบบนี้

“เนื่องจากไม่สามารถไปห้ามปรามได้ ในขณะที่ชาวบ้านก็มองแค่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า ไม่สนใจหรือไม่รู้ว่าต้องเอาอะไรไปแลกบ้าง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาวคืออะไร ซึ่งภูทับเบิกเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีสภาพอากาศเป็นจุดขาย หากมีสารเคมีฟุ้งกระจายและปนเปื้อน คงไม่มีใครอยากมาเที่ยว และซื้อหาผลผลิตการเกษตรที่ปนเปื้อนสารเคมีไปรับประทาน จึงต้องการสร้างกระแสให้ผู้บริโภครู้เท่าทันเอกชนเหล่านี้ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้นกว่านี้”นายไกรสรกล่าว

     นายไกรสรกล่าวอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่อ.พบพระ จ.ตาก ก็มีเอกชนน่าจะเป็นรายเดียวกันนี้นำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อมาให้เกษตรกรเพาะปลูก แต่ผลผลิตนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังเน่าเสียอีก ทำให้เกษตรกร 3 ตำบลพื้นที่เพาะปลูกราว 5,000 ไร่ได้รับผลกระทบกว่าครึ่ง จึงมีการเรียกร้องขอให้ช่วยชดเชยหรือเยียวยาแต่เอกชนปัดความรับผิดชอบ จึงน่าจะเป็นอุทธาหรณ์ได้เป็นอย่างดีและยังเข้าใจว่าการที่เล็งมาที่ภูทับเบิก เพราะจำเป็นต้องหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ นอกจากนี้ก็ไม่รู้ว่าหัวพันธุ์มันฝรั่งที่จะนำเข้ามีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) หรือไม่ ตรงนี้ก็ยังไม่มีการให้ความกระจ่าง