ร่วมด้วยช่วยกัน!!! "กรณ์" แบ่งประสบการณ์ แชร์แนวคิด ข้าวราคาตํ่า ควรทำอย่างไร ???

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

       นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij แบ่งปันประสบการณ์กรณีข้าวราคาตํ่า ควรทำอย่างไรว่า  ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติได้เล่าว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อนนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงรับสั่งกับดร. ประสาร (ในฐานะนักเรียนทุนมหิดล) ดร. ประสารเล่าว่า  " เมื่อพระองค์ทราบว่า ไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มา และตอนนั้นกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องตลาดข้าว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า เรื่องข้าว พอจะมีแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าได้หรือไม่ ตอนนั้นปี 2524 ความจริงซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่ค่อยมี แต่พระองค์ทรงมองการณ์ไกลมาก ทรงตรัสว่า ข้าวแทนที่จะขายเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ ความจริงน่าจะนำมาทำแพ็คเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ ขณะที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย ”

       ผมเพิ่งได้อ่านเรื่องนี้ เลยทำให้ลงมือปฏิบัติตามนี้ช้าไปเกือบ ๓๐ ปี แต่ก็ได้พยายามทำตามแนวพระราชดำรัสด้วยการทำข้าว 'อิ่ม' กับชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคาม และทำมาสามปีแล้ว และวันนี้เนื่องจากราคาข้าวตกตํ่ามาก จึงมีกระแสชักชวนให้ชาวนาขายข้าวถุงตรงกับผู้บริโภค แทนที่จะขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี ด้วยสมมติฐานว่าจะเป็นกันตัดขั้นตอนเพื่อให้ชาวนามีราคาขายที่สูงขึ้น  แนวคิดนี้เป็นแนวคิดเดียวกันกับที่ผมทำข้าว 'อิ่ม' ซึ่งช่วยทำให้ชาวนาในโครงการสามารถขายข้าวได้ตันละ ๒๕,๐๐๐ บาท เทียบกับราคาตลาดที่ประมาณ ๘,๐๐๐ บาท แต่อยากจะขอแชร์ความคิดจากประสบการณ์ที่ทำเรื่องนี้มาสามปี

ร่วมด้วยช่วยกัน!!! "กรณ์" แบ่งประสบการณ์ แชร์แนวคิด ข้าวราคาตํ่า ควรทำอย่างไร ???

       ก่อนอื่นหากจะทำให้สำเร็จ เงื่อนไขสำคัญคือ ๑. คุณภาพสินค้าต้องดี (เพราะผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกเยอะ) ๒. ทุนหมุนเวียนต้องมี (เพราะการขายปลีกหมายถึงรายได้จะค่อยๆเข้ามาตามที่ขายได้ ต่างกับการเหมาขายให้โรงสีที่จะมีเงินเข้ามาเป็นเงินก้อนทันที) ๓. ต้องเข้าถึงตลาดได้ (นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด) จะทำตามเงื่อนไขสามข้อนั้นนี้มีประเด็นท้าทายมากมาย ขอยกตัวอย่างครับ

       ๑. การรวมตัวชาวนาให้มีเอกภาพเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รวมตัวกันได้คือเรื่องผลประโยชน์และการมีผู้นำหมู่บ้านที่ดี ผลประโยชน์ในที่นี้คือผลจากการขายข้าว ซึ่งต้องให้ความมั่นใจกับชาวนาว่าข้าวสารของเขาจะขายได้แน่ และขายได้ในราคาที่ดีกว่าการขายให้โรงสี

       ๒. การขายข้าวให้ได้ราคาต้องเป็นข้าวมีคุณภาพ ซึ่ง 'คุณภาพ' ในที่นี้หมายถึงทั้งพันธุ์ข้าวและวิธีการปลูกที่ควรปลอดการใช้สารเคมี การโน้มน้าวให้ชาวนาเปลี่ยนกรรมวิธีเพื่อให้ได้ 'คุณภาพ' เป็นเรื่องที่ท้าทาย

       ๓. เรื่องทุนสำคัญครับ เพราะชาวนารายเล็กจะยากจน เขารอรับเงินไม่ได้ และพร้อมขายเหมาถูกๆเพื่อแลกกับการได้เงินเร็ว

       ๔. เราขายข้าว 'อิ่ม' ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวนาทุกคนมีช่องทางแบบนี้? กระบวนการมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่นสินค้าต้องมี อย. ต้องมีการบริหาร logistic ต้องมีคนเช็คสต๊อก ฯลฯ และที่สำคัญชาวนาทุกกลุ่มจะหวังว่าสินค้าของตนจะเข้าห้างได้คงยาก จึงต้องมียุทธศาสตร์อื่นด้วย

       ๕. การขายผ่าน e-commerce ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่ง หากส่งทางไปรษณีย์มีต้นทุนกิโลละ ๓๐ บาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับราคาข้าว

ร่วมด้วยช่วยกัน!!! "กรณ์" แบ่งประสบการณ์ แชร์แนวคิด ข้าวราคาตํ่า ควรทำอย่างไร ???

       นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อย (ที่ล้วนสำคัญ) อีกมากมาย เช่นหากไม่ขายโรงสีแล้วจะสีข้าวอย่างไร หากสีเองจะได้มาตรฐานหรือไม่ การแพ็คถุงก็มีประเด็นตั้งแต่การลงทุนซื้อเครื่องแพ็คไปถึงการจัดคิวแรงงานแพ็คของ

       โดยสรุปงานชาวนาจะเพิ่มมากขึ้นเยอะ แต่เขาจะไม่เกี่ยงงานหากเขามั่นใจว่าจะได้ในราคาขายที่ดีขึ้นมาก ซึ่งหากพิจารณาตามราคาปลีกทั่วไปทุกวันนี้ของข้าวที่ไม่เป็นพรีเมี่ยม จะเห็นว่าราคาไม่เป็นแรงจูงใจที่เพียงพอนัก

       ทั้งหมดนี้จะเห็นว่ารัฐมีส่วนช่วยได้ในทุกขั้นตอน ขอให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะช่วยให้ชาวนาพึ่งพาตนเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การช่วยสร้างแบรนด์ท้องถิ่น การรับซื้อเพื่อใช้ในโรงเรียนหรือสถานพยาบาลของรัฐ การจัดสรรงบเพื่อชาวนาลงทุนในอุปกรณ์ ฯลฯ  หรือแม้แต่แนวคิดที่ดูเหมือนอาจจะฉีกแนว เช่นการสำรองโควต้าการขายข้าวถุงให้ชาวนา

       และยุทธศาสตร์นั้นต้องรวมถึงการยกระดับสินค้าให้เป็นพรีเมี่ยม การแปรรูป และการสร้างรายได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากข้าว

 

 

เรียบเรียงโดย : ศิริพงศ์ สำนักข่าวทีนิวส์

ขอบคุณภาพ-ข้อมูลเฟซบุ๊กKorn Chatikavanij