"คำสอนพ่อหลวง" คือหัวใจความสำเร็จ !!! ลูกชาวนาสุรินทร์เลิกพึ่งพารัฐพิสูจน์ให้เห็นจริง"เกษตรทฤษฎีใหม่"  ปลูก-ขายข้าวปีล่าสุดสร้างรายได้ชุมชนราว 3 ล้าน

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ถือเป็นปัญหาของชาวนาไทยในขณะนี้กับสถานการณ์ราคาข้าวที่ตกต่ำด้วยหลายปัจจัยองค์ประกอบ  แต่ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็ชี้ว่าภาวการณ์เช่นนี้มีผลดีทำให้ประเทศไทย  ต้องกลับมาพิจารณาร่วมกันแนวทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจัง  โดนเฉพาะการพัฒนาและส่งเสริมให้ชาวนาไทยมีวงจรการผลิต ตลอดจนการซื้อขายที่มีความสมบูรณ์และลดการพึ่งพากลุ่มทุนหรือพ่อค้าคนกลางเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

  

อย่างกรณีที่ปรากฏเป็นข้อมูลในเพจเฟสบุ๊กอย่าง  “จดหมายเหตุ ชานนท์”  ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตในฐานะลูกชาวนาคนหนึ่งว่า  “ ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่แม่เราทำข้าวพันธุ์ ได้โลละ 20 บาท (ผ่านการตรวจคุณภาพจากศูนย์วิจัยฯถึงจะได้ราคานี้) 
 

 

“ไม่ต้องพึ่งจำนำเลย ปี 57 รัฐบาลคสช. รับจำนำข้าวเปลือก(ยุ้งฉาง)อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน ปีที่แล้วรับจำนำอยู่ที่ 13,000 บาท ปีนี้เห็นว่าจะรับจำนำที่ 12,000 บาท   ที่จริงแทบไม่รู้เลยว่า รัฐบาล คสช. รับจำนำข้าวด้วย ถ้าไม่รู้จากแม่ ซึ่งดำเนินการผ่าน ธกส.

 

ในส่วนข้าวพันธุ์ที่ได้ราคาดีต้องดูแลแบบดีมากๆ เพราะปีที่แล้วมีคนร่วมโครงการ 40 กว่าคนได้ แต่ผ่านการตรวจ 3 คนรวมถึงแม่เราด้วย ข้าวเปลือกกิโลหนึ่งต้องไม่มีข้าวอื่นปนเกิน 5 เมล็ด

 

 

ข้าวที่เหลือนอกจากขายเป็นข้าวพันธุ์เราก็แพคถุงขายนี้แหละ ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์ฯ ปีแรกของการรวมกลุ่ม มีคนเข้าร่วมประมาณ 40 คน มีข้าวเปลือกรวม 80 กว่าตัน มูลค่าขายได้ล้านกว่าบาท นี่ถ้าไม่มารวมกลุ่มนี้เราก็ไม่เคยคิดเลยนะว่า มูลค่าข้าวในชุมชนจะเยอะขนาดนี้ ยังมีของคนไม่ได้เป็นสมาชิกอีก ถ้ารวมทั้งชุมชุม มูลค่า 3 ล้านบาทได้

เราเคยเรียนวิชาสังคมน่ะ เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงภูมิพลนี้  มี 3 ขั้น 
 

ขั้นที่ 1 พึ่งตนเอง
 

ขั้นที่ 2 รวมกลุ่มเกษตรกร
 

ขั้นที่ 3 ติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรภายนอก

 

แต่เราอยู่แต่ขั้นที่ 1 กัน พึ่งตัวเองแล้วตัวใครตัวมัน ไม่ก้าวขั้น พอชุมชนเราทำสหกรณ์ มันจริงน่ะ กลุ่มอยู่ได้ ราคาขายก็ดี ไม่ต้องพึ่งจำนำรัฐบาลเลย นี่สิ่งที่พระองค์ท่านตรัสสอนไว้มันจริง มันอยู่ได้ทั้งชุมชน

 

สหกรณ์เราขายข้าวให้ ธกส สกต. และคนกินโดยตรง นี้มันต้องเป็นแบบนี้ เกษตรกรต้องทำเอง ขายเอง กำหนดราคาเอง ทำการตลาดเอง ถึงจะไม่โดนเอาเปรียบ ต้องคิดได้อย่างนี้

 

กว่าจะมาได้ขนาดนี้ทั้งพัฒนากรอำเภอ จังหวัด และองค์กรประเทศญี่ปุ่นเขาก็ลงมาช่วยน่ะ ให้ความรู้เยอะน่ะ เขาพร้อมให้เรา ถ้าชาวบ้านจะเอา มาที่ชุมชนบ้าง ชุมชนไปหาเขาบ้าง เพราะเขามีองค์ความรู้ มีเครือข่ายให้เรา เราไม่ต้องคิดใหม่ จะรอให้เขามาหาเราก็ยากนะ ชุมชนมีเป็นพันทั้งจังหวัด แต่ศูนย์วิจัยมีแห่งเดียว ใครควรไปหาใครก็ดูเอา

ตอนนั้นเราอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคอลัมน์พวกเกษตร อ.ญี่ปุ่นเขาเปรียบเทียบเกษตรกรไทยกับญี่ปุ่นให้ดู ของเขาน่ะ ชาวนาเขารวมกลุ่มกันทำ รวมกลุ่มดูแลกัน ขายก็ขายเป็นกลุ่ม ทำเป็นสหกรณ์ เออนี่มันแบบที่พระเจ้าอยู่หัวท่านสอนคนไทยเลย ที่เราเคยเรียนในวิชาสังคมเกษตรทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น เพียงแต่คนไทยรู้อยู่ขั้นเดียว ถ้าทำครบ 3 ขั้นน่ะ เกษตรกรอยู่ได้นานแล้ว

 

หลายหน่วยงานพยายามทำแบบนี้น่ะ อย่างที่เห็นมูลนิธิปิดทองหลังพระ เขาทำแบบจริงจังเลย เห็นผลชัดเจน แต่หน่วยราชการเราเขาไม่ค่อยพาทำ เขาพูดอย่างเดียว ส่วนใหญ่ก็เป็นมูลนิธิ หรือโครงการหลวงที่เขาลงไปทำจริงๆ

 

เราพึ่งรัฐบาลจนเคยตัว ต่อไปนี้เราต้องมาพึ่งกันเอง มันถึงจะอยู่ได้ และยั่งยืน สำคัญคือต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำปุ๊บเห็นปั๊บแบบโครงการรัฐบาลเขา ดังนั้นต้องขยัน อดทน ถ้าชอบสบายก็ไม่ต้องหวังเอา”

 

"คำสอนพ่อหลวง" คือหัวใจความสำเร็จ !!! ลูกชาวนาสุรินทร์เลิกพึ่งพารัฐพิสูจน์ให้เห็นจริง"เกษตรทฤษฎีใหม่"  ปลูก-ขายข้าวปีล่าสุดสร้างรายได้ชุมชนราว 3 ล้าน

 

เรียบเรียงโดย :  ชัชรินทร์  สำนักข่าวทีนิวส์

ข้อมูล :  FB  “จดหมายเหตุ ชานนท์”