นักวิชาการหนุน ‘พ.ร.บ.โค้ด มิลค์’ ชี้คุม ‘โฆษณาอาหารเด็ก’ ถึง 3 ปี เหมาะสม

นักวิชาการหนุน ‘พ.ร.บ.โค้ด มิลค์’ ชี้คุม ‘โฆษณาอาหารเด็ก’ ถึง 3 ปี เหมาะสม

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.โค้ด มิลค์ (Code milk) เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็กได้ยื่นจดหมายเสนอต่อ สนช.ได้แก่ 1.ควรจำกัดเฉพาะทารกแรกเกิด-12 เดือน แทนการกำหนดถึง 3 ปี 2.อาหารทางการแพทย์ไม่ควรถูกควบคุม และ 3.ขยายระยะเวลาปรับตัวของผู้ผลิตจาก 6 เดือน เป็น 1 ปีครึ่ง ว่า โดยหลักการเด็กทุกคนควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งช่วงเวลานี้เด็กจะค่อยๆ ปรับตัวไปสู่การกินอาหารหลัก 3 มื้อ และนมจะเปลี่ยนจากเป็นอาหารหลักไปเป็นเพียงอาหารเสริม ดังนั้น การกำหนดขอบเขตควบคุมการส่งเสริมการตลาดในอาหารสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี จึงมีความเหมาะสม

พญ.ศิริพร กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดว่าห้ามขาย ห้ามซื้อ หรือห้ามกิน แต่จะมุ่งเน้นควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเกินความเป็นจริง หรือส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถมในผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กเล็กเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่าผลิตเหล่านี้มีการโฆษณาที่เกินจริงมาก เช่น โฆษณาว่าดื่มนมผงหรือนมผสมยี่ห้อนี้แล้วสมองเด็กดี เป็นต้น

“นมผสมสามารถทำให้เหมือนนมแม่ได้เพียง ร้อยละ 20 แต่กลับมีการโฆษณาในลักษณะที่สามารถนำมาใช้ทดแทนนมแม่ได้ หรือบางโฆษณาสร้างความเข้าใจประหนึ่งดีกว่านมแม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด หากเด็กไม่ได้กินนมแม่จะทำให้เด็กขาดโอกาสโดยเฉพาะการได้รับภูมิต้านทานที่มีอยู่ในนมแม่ที่จะเข้าไปในกระเพาะเด็กแล้วอุดช่องว่างระหว่างเซลล์ของเด็ก หรือฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นมผสมไม่สามารถทำให้เหมือนนมแม่ อีกทั้ง มีงานวิจัยระบุชัดเจนว่า เด็กที่ได้กินนมแม่จะมีระดับสติปัญญามากกว่าเด็กที่ไม่ได้กิน รวมถึง ความรักความอบอุ่นความผูกพันที่เด็กจะได้สัมผัสจากแม่ระหว่างการให้นมด้วย” พญ.ศิริพร กล่าว