นักการเมืองหนาว ๆ ร้อน...!!! เมื่อ กม.ลูกรธน. ยึดกม.อาญาฟันนักการเมืองซื้อขายเก้าอี้!! (ข้อมูล)

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม www.tnews.co.th

อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่หลายคนให้ความสนใจแต่ไม่ได้มีการพูดถึงนัก  ก็คือเรื่องของความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา  67  ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปก่อนหน้านี้

ล่าสุด  นายมีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ได้พูดถึง  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  ว่า  ขณะนี้ได้มีการปรับแก้ถึงบทลงโทษนักการเมืองซื้อขายตำแหน่งแล้ว  โดยเบื้องต้นจะยึดหลักของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149  สำหรับข้าราชการทั่วไปที่ทำผิดใน 3 ระดับ คือ  จำคุก 5-10 ปี , จำคุกตลอดชีวิต หรือ ประหารชีวิต เพื่อไม่ให้โทษรุนแรงเกินไป

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา  149   ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ   มีสาระสำคัญระบุว่า    “  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือ สมาชิกสภาเทศบาล  เรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ  เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง   ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่   ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”

ชัดเจนว่าในส่วนบทลงโทษสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายตำแหน่ง จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  149   ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต และทั้งหมดจะเป็นไปตามการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาด 

ก่อนหน้านั้น   "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เคยเปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ถึงการดำเนินการกับนักการเมืองทีมีพฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่น  โดยส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 80.82   เห็นว่าถ้ามีการกระทำผิดจริง  ก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย  และร้อยละ 76.95  เห็นควรว่าจะต้องมีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

ส่วนความเห็นของประชาชนว่าด้วยการลงโทษนักการเมืองที่มีการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะเป็นเหตุกรณีใดสมควรหรือไม่  พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.01  เห็นว่าเป็นเรื่องสมควร  เพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย  คนทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ ถือว่าเป็นตัวอย่างสำคัญให้กับบุคคลอื่นๆ ฯลฯ  โดยมีเพียงร้อยละ 9.93  เท่านั้นที่เห็นว่าไม่สมควร   เพราะ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น มองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ควรแก้ไขที่ระบบการทำงานมากกว่า ฯลฯ

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีบทบทบัญญัติของกฎหมายสำหรับการดำเนินการกับนักการเมืองที่มีพฤติการณ์ซื้อขายตำแหน่งแล้ว  ในทางปฏิบัติจะดำเนินการได้จริงหรือไม่ 

เพราะในแวดวงการเมืองแม้จะเป็นที่รู้กันว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้น  แต่ต้องยอมรับว่าโดยวิธีการที่นักการเมืองนำใช้ก็ไม่สามารถจะชี้ชัดความผิดได้เหมือนการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการอื่น ๆ โดยเฉพาะกับแวดงวงข้าราชการตำรวจ

ขณะที่อีกสาระหนึ่งของบทบัญญัติกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ  นายมีชัย  ฤชุพันธุ์  ในฐานะประธานกรธ. ยังได้อธิบายถึงกรอบกฎหมายกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง   ด้วยว่า ในส่วนของเนื้อหารายละเอียดยังยึดตามร่างเดิมและเปิดการรับฟังความเห็น    โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคการเมือง  ที่กรธ.พยายามให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพรรค  เช่น การจ่ายค่าสมาชิกพรรคที่พรรคต้องจัดเก็บมาเป็นทุนประเดิมพรรค รวมถึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองในฐานะสมาชิกพรรค

โดยจุดหลัก ๆ  ก็คือการให้ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคมีสิทธิในการร่วมเป็นเจ้าของพรรคมากขึ้น  ทั้งการเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค และการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง  เพราะเมื่อสมาชิกพรรคมีบทบาทในการจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรค สมาชิกพรรคก็ควรต้องมีบทบาทในการกำกับพรรค  เพราะถือเป็นส่วนสำคัญของการกระบวนการมีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย ส่วนการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองนั้นยังคงสามารถทำได้แต่ต้องแจกแจงรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตามนายมีชัย  ย้ำด้วยว่า  การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะยังยึดตามโรดแมปเดิม  เพียงแต่จะทำให้เสร็จสิ้นสำหรับกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.  จากนั้นจะดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป

ทั้งนี้สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  หรือ กฎหมายลูกนี้  ก็คือกฎหมายที่มีสถานะสูงรองจากรัฐธรรมนูญ และมีสถานะสูงกว่าพระราชบัญญัติทั่ว ๆ ไป 

ซึ่งโดยหลักใหญ่ใจความก็เพี่อทำให้แนวทางการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยตามเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติไปก่อนหน้านี้   ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 67   ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว ยังต้องจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาอีกอย่างน้อย 10 ฉบับ คือ

 

1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

5. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

6. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

7. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

8. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

9. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

10. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

และถ้าจัดหมวดหมู่ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 ฉบับ อาจแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ฉบับที่ 1-4 เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ ก็ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนฉบับที่ 5-10 เป็นกฎหมายที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ

ขณะที่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 กำหนดด้วยว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของมีชัย ฤชุพันธุ์ นี้ อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อจัดทํา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณาและประกาศใช้